นักเศรษฐศาสตร์ย้ำ รบ.ยึดธรรมาภิบาลบริหารงบฯ แนะรัฐบาลต้องมีแผนชี้แจงที่ชัดเจน ขณะที่ พ.ร.ก. กู้เงิน 2 ฉบับผ่านฉลุย เพราะตั้งงบไปฟื้นฟูประเทศ แต่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า การตรา กม. กำหนดวงเงินดังกล่าว มีเจตนาสุจริตหรือไม่
รศ.สมภพ มานะรังสรรค์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นสะท้อนความขัดแย้งของหน่วยงานบริหารการเงินของประเทศ ที่ไม่เป็นเอกภาพต่อการชำระหนี้สาธารณะ รวมถึงการย้ำให้รัฐบาลใช้หลักธรรมาภิบาล ในการบริหารงบประมาณที่ต้องมีแผนชี้แจงชัดเจนว่านำเงินไปใช้อะไรบ้าง ทั้งในด้านการลงทุน และการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูประเทศ
โดยเมื่อเวลา 14.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จำนวน 3.5 แสนล้านบาทและ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 1.14ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศพ.ศ.2555เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 1 และ 2 เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 1 และ 2 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการลดภาระงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในการตั้งงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยที่สามารถนำงบประมาณดังกล่าวมาใช้พัฒนประเทศโดยส่วนรวม และไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ความจำเป็นดังกล่าวมาจากวิกฤตอุทกภัย โดยในชั้นนี้ไม่มีมูลที่ชี้ให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวโดยไม่สุจริต และบิดเบือนรัฐธรรมนูญ