กทช.ปลุกตลาดเคเบิลทีวีคึก แจกไลเซนส์ล็อตแรก 7 ใบ แย้มมีต่อคิวรออีกเพียบ มั่นใจช่วยแก้ปัญหาเรื่องเคเบิ้ลทีวีเถื่อน การกำกับดูแลเนื้อหา รวมถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ ประกาศคุมเข้มด้านคุณภาพ หลังที่ผ่านมาถูกใช้หาโฆษณาด้อยคุณภาพ-ยาผีบอก ลั่นหากมีการร้องเรียนโดนเพิกถอนแน่
นายพนา ทองมีอาคม หนึ่งในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กทช.ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว ประเภทกิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก หรือเคเบิลทีวี แบบชั่วคราว จำนวน 7 ใบอนุญาต (ไลเซนส์) ให้เอกชน 5 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วน (หจก.) ปราจีนบุรี เคเบิ้ลทีวี, บริษัทอินเตอร์ โมบาย ท๊อป เซอร์วิส จำกัด, หจก.ละงู เคเบิ้ลทีวี, บริษัท ไทยซินแอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท อ่างทอง เคเบิ้ลทีวี จำกัด ซึ่งถือเป็นการออกใบอนุญาตครั้งแรก หลังจากที่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้และใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปี
“มีผู้ประกอบการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ที่ได้รับใบอนุญาตและผ่านขั้นตอนการทดลองแพร่ภาพกระจายเสียง รอบแรกจำนวน 5 ราย 7 ใบอนุญาต จากทั้งหมดที่ได้ยื่นขอ 814 ใบอนุญาต จากผู้ประกอบการ 400 ราย ทั้งนี้ ผู้ได้รับใบอนุญาตรอบแรก ทั้ง 7 ใบ ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของ กทช.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กสทช. พร้อมทั้งมีการทดสอบการส่งสัญญาณกระจายเสียงแล้ว ขณะที่ยังมีผู้ผ่านขั้นตอนการพิจารณา อีก 58 ใบอนุญาต ที่จะต้องมีการทดสอบการส่งสัญญาณกระจายเสียง รวมทั้ง ผู้ที่รอการอนุญาต อีก 60 ราย”
ทั้งนี้ ใบอนุญาตชั่วคราวมีอายุ 1 ปี จึงไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี โดยการให้ใบอนุญาตครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเคเบิ้ลทีวีเถื่อน การกำกับดูแลเนื้อหา รวมทั้ง การละเมิดลิขสิทธิ์ เชื่อว่าหลังจากนี้ไปจะมีคนมาขอใบอนุญาตเรื่อยๆ โดยขณะนี้ธุรกิจเคเบิลทีวีเป็นที่นิยม โดยมีผู้ชมประมาณ 5 ล้านครัวเรือน จานดาวเทียม 10 ล้านครัวเรือน ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มจะเติบโตเพิ่มขึ้น
โดยที่ผ่านมาไม่สามารถจัดตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ได้ทำให้เกิดสุญญากาศสำหรับกิจการเคเบิลทีวี และเมื่อกฎหมายได้ให้อำนาจ กทช.ในการดำเนินการ ทำให้ต้องเร่งกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อจัดระเบียบกิจการวิทยุ โทรทัศน์และเคเบิลทีวี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ สามารถที่จะทำธุรกิจได้อย่างมั่นคง และยื่นขอสนับเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เพราะผู้ประกอบการเคเบิลทีวีส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ที่อยู่ในต่างจังหวัด หรือเป็นเคเบิลท้องถิ่น
นายพนากล่าวเพิ่มเติมว่า กทช.ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องเคเบิลทีวี ที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในครั้งนั้นมีผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีจำนวนมากที่ได้ใบอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์ได้สิ้นสุดอายุลงแล้ว และมีบริษัทที่ถูกกฎหมายเหลืออยู่เพียง 77 ราย หลังจากนั้นไม่กี่เดือนใบอนุญาตก็ขาดอายุลงกลายเป็นผู้ประกอบการนอกกฎหมายทั้งหมด
ขณะเดียวกัน อำนาจของกรมประชาสัมพันธ์ในการให้ใบอนุญาตเคเบิลทีวีได้สิ้นสุดลง และไม่มีองค์กรใดให้ใบอนุญาตได้ เพราะไม่สามารถจัดตั้ง กสช. ดังนั้น กทช.โดยอนุกรรมการได้เริ่มรับฟังความคิดเห็นและนำมาสู่การออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบการกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553
ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตให้เคเบิลทีวีนอกจากเป็นการจัดระเบียบแล้ว ยังจะช่วยควบคุมการผลิตรายการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วย เพราะที่ผ่านมามีการขายโฆษณาที่หลากหลาย บางครั้งเป็นลักษณะยาผีบอก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาดังนั้นเมื่อได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะต้องควบคุมรายการผลิตของตัวเองให้ดี หากประชาชนร้องเรียนและแจ้งมา กทช.ก็จะเข้าไปตรวจสอบ และอาจถึงขั้นถอนใบอนุญาตก็ได้