xs
xsm
sm
md
lg

ทีวีดาวเทียม เส้นทางรวย ในยุคทีวี 1,000 ช่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสัก 10 ปีก่อน เวลาถามว่าคุณชอบดูทีวีช่องไหนมากที่สุด คำตอบที่ได้ก็คงวนเวียนอยู่ 3 5 9 11 และไอทีวี แต่พอมาถึงยุคนี้ คำตอบแปลกๆ กลับมีมากขึ้นทั้ง เอเอสทีวี ซูปอร์บันเทิง พีเพิ้ลแชนนอล เนชั่นแชนแนล แบงค์ทีวี หรือแม้แต่ซูเปอร์เช็ง

หลายคนคงสงสัยกันแล้วใช่ไหมว่า ช่องพวกนี้มันมีในโลกหรือประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมจูนทีวีอยู่ตั้งนาน ปรับเสาก้างปลาบนหลังคาบ้านจนเมื่อยแล้ว ทำไมถึงยังรับไม่ได้เลยสักที...

เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะช่องเหล่านี้ออกอากาศผ่านดาวเทียมนั่นเอง ซึ่งเสาอากาศปกติรับไม่ได้ แถมทุกวันนี้ใครๆ ก็นิยมทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมกันมากขึ้น ทั้งหน่วยงานราชการที่ต้องการโปรโมตผลงาน หรือบางครั้งก็มีวาระแอบแฝง นักการเมืองที่ต้องการหาที่ระบายและกล่อมเกลาสาวก หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่รายการเก่าทิ้งไว้ในสต๊อกเต็มไปหมด ก็เอากลับมาขายอีกที

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมพอเดินไปบ้านไหนๆ จึงเห็นแต่จานหน้าตาแปลกๆ ติดตามหลังคาบ้านเต็มไปหมด เพราะนั่นกำลังแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเหล่านี้มีช่องทีวีดูเยอะกว่าคนปกตินั่นเอง

ทีวีนี้มีที่มา

จริงๆ แล้วทีวีดาวเทียมก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์เก่ากึ๊กที่ชาวโลกต่างคุ้นเคยกันมานาน โดยสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งแรกนั้นถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2518

ขณะที่ประเทศไทยเองมีประวัติยาวนานไม่แพ้กัน แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่ เพราะรายการที่ออกมักเป็นรายการเพื่อการศึกษา เช่น สถานีโทรทัศน์อีทีวีของกระทรวงศึกษาธิการ และดีแอลทีวี วังไกลกังวล ซึ่งเป็นช่องการศึกษาผ่านทางไกลของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

จนกระทั่งในปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่การเมืองไทยมีความระอุมากที่สุด ผู้คนจึงเริ่มรู้จักทีวีดาวเทียมมากขึ้น

ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) เล่าว่า เดิมคนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ส่วนมากรู้จักแต่เคเบิ้ลทีวีซึ่งมักนำสัญญาณช่องทางดาวเทียมไปออกอากาศเท่านั้น แต่คงเป็นเพราะในช่วงรัฐบาลดังกล่าว พยายามกดดันให้บรรดาผู้ประกอบการเคเบิลทีวีถอดช่องนิวส์วัน ซึ่งมีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลออกจากผัง ทำให้กระแสความอยากรู้อยากเห็นของประชาชนมีเพิ่มมากขึ้น

“การที่นักการเมืองพยายามจะสั่งปิดการถ่ายทอดสดรายการผ่านช่องนิวส์วัน เพื่อไม่ให้คนต่างจังหวัดได้ดูนั้น ผมว่ามันสร้างความรู้สึกให้เขาอยากดูเพิ่มขึ้นไปอีกนะ เพราะฉะนั้นก็ต้องลงทุนซื้อจานมาดู

“คือเราต้องยอมรับว่าช่วงนั้น ทีวีช่องปกติไม่สามารถสนองตอบความต้องการของคนดูได้ทั้งหมด คนทำทีวีก็ไม่สามารถทำทีวีได้อย่างที่ใจต้องการ เพราะผู้มีอำนาจกดดันและเข้มงวดกับเรื่องนี้มาก อย่างช่องเนชั่นแชนเนล พอเขาสามารถส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียมได้ เขาบอกเลยว่า นับแต่นี้ไปเขาจะไม่หยุดทำแน่นอน”

หลังจากกลุ่มเอเอสทีวีหรือช่วงนิวส์วันสามารถจุดกระแสทีวีดาวเทียมสำเร็จ สิ่งที่ตามมาก็คือ การเฮโลของบรรดายักษ์ใหญ่จำนวนมากที่ต่างรีบลงมารุมทึ้งธุรกิจนี้เป็นการใหญ่ จนปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีทีวีดาวเทียมสูงกว่า 200 ช่อง และในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกราวเท่าตัว

ตลาดเล็ก คุมง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์หนึ่งในวงการโทรทัศน์ที่เห็นได้ชัดเจนหลังการบูมของทีวีดาวเทียม นั่นคือ การมีสถานีโทรทัศน์เฉพาะแนวมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้คนสามารถเลือกรับในสิ่งที่ตัวเองสนใจมากยิ่งขึ้น

อย่างเช่นรายการข่าวก็จะมีของกลุ่มผู้ที่ผลิตหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวลงมาทำรายการ เช่น เครือผู้จัดการที่ทำเอเอสทีวี ผลิตข่าวทุกประเภท ทั้งข่าวภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาอีสาน และข่าวบันเทิง กลุ่มเนชั่น ผลิตช่องเนชั่นแชนเนล กลุ่มบางกอกทูเดย์ก็ผลิตรายการเอาใจคนเสื้อแดงในสถานีโทรทัศน์เอ็มวีทีวี หรือแม้แต่กลุ่มโพสต์ พับลิชชิ่งก็เคยมีความคิด
จะลงสนามด้วยการผลิตช่องโพสต์แชนเนล แต่มาระยะหลังก็ดูเงียบไป
ส่วนรายการประเภทบันเทิง ยิ่งไม่ต้องพูดถึง บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างลงมากันหมด เช่น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเนื้อหาบันเทิงอยู่ท่วมมือก็แตกไลน์ธุรกิจนี้เป็น 4 ช่องตามกลุ่มเป้าหมายของตลาด เช่นกลุ่มวัยรุ่นก็ดูช่องแบงค์แชนแนล กลุ่มแฟนเพลงลูกทุ่งก็ดูแฟนทีวี ส่วนใครเป็นคอละคร หรือบ้าดาราก็ดูแอ็กซ์แชนเนล ส่วนคู่แข่งอย่าง บริษัท อาร์เอส ก็ผลิตรายการเพลง 2 ช่อง คือเพลงสตริงกับเพลงลูกทุ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทกันตนาที่ขนเอาสต็อกรายการและละครเก่าๆ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นท้าพิสูจน์ ละครหลังข่าวช่อง 5 เมื่อสิบกว่าปีก่อนมาลงจอให้บรรดาคนรุ่นใหญ่ย้อนอดีตสมัยเป็นหนุ่มสาว

ขณะที่รายการทางศาสนา ก็มีให้เลือกสรรไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นช่องสันติอโศก ช่องหลวงตามหาบัว ช่องวัดยานนาวา หรือแม้แต่ช่องดาวธรรมของวัดพระธรรมกายที่เปิดตัวมาร่วม 10 ปี เป็นศูนย์กลางเพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ทำทานบารมีกันอย่างเต็มที่

ส่วนบริษัทที่ขายสินค้าทั้งหลายก็ไม่น้อยหน้า อย่างบริษัทสหพัฒนพิบูลก็ผลิตรายการที่โปรโมตสินค้าของตัวเองมาโดยเฉพาะ ซึ่งมีการขายตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจนถึงชุดชั้นใน แต่เพื่อความน่าสนใจของผู้ชม ทำให้ทางสถานีต้องมีการเอารายการบันเทิงต่างๆ เข้ามาแทรกเพื่อแย่งเรตติ้ง และนี่ยังไม่รวมกลุ่มบริษัทขายตรง ร้านทอง เจ้าของธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ที่ตั้งสถานีขึ้นมาประลองยุทธ์กันเต็มไปหมด

ลงทุนน้อย แต่ (หวัง) รวยยาว

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ นั่นคือการลงทุนทำทีวีดาวเทียมนั้นใช้เงินไม่มาก แต่ได้ผลตอบแทนมหาศาล เนื้อหารายการบางทีก็ไม่ใช่การลงทุนใหม่ เป็นของเก่าเอามาขายใหม่ หรือไม่บางรายการก็ตั้งขึ้นมาเพื่อขายของ (หาเงิน) โดยเฉพาะ

ขณะที่ฐานผู้ชมก็ยังเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกวันนี้เสาอากาศแบบเดิมกับจานดาวเทียม ราคาไม่ได้แตกต่างกันมาก บางครั้งถึงขั้นแจกฟรี พอถึงเวลาต้องเลือกจริงๆ ประชาชนก็มักจะเลือกในสิ่งที่ดีกว่า มีทางเลือกให้มากกว่า และไม่ถูกจำกัดเพียงแค่สถานีโทรทัศน์ 6 ช่องเท่านั้น

เหตุนี้จึงทำให้มีเจ้าของผลิตภัณฑ์จำนวนมากหันมาลงสปอนเซอร์กับทีวีดาวเทียมแทนทีวีกระแสหลัก เพราะนอกจากกลุ่มเป้าหมายจะชัดเจนกว่า ค่าโฆษณายังถูกกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกวันนี้ทีวีดาวเทียมจะทำหน้าที่เพียงแค่ทางเลือกเสมอไป เพราะบางครั้งสถานีพวกนี้ยังเป็นเครื่องมืออย่างดีในการปลูกฝังสิ่งต่างๆ ลงไปอีกด้วย

สมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แสดงความเห็นว่าทีวีดาวเทียมนั้นมีทั้งข้อดี และข้อเสีย
ข้อดีคือ ความเสรีของข้อมูลข่าวสารที่ผู้รับสื่อได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น ส่วนสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือเรื่องการครอบงำด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ และการมอมเมาประชาชนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา การเมือง หรือเศรษฐกิจ

“ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราละเลยไม่ได้ โดยเฉพาะพวกลัทธิศาสนาหรือธุรกิจขายตรงทั้งหลาย เพราะมันเป็นการใช้สื่อเพื่อมอมเมาโดยเล่นกับความเชื่อ เล่นกับศรัทธาของผู้คน โดยส่วนใหญ่พวกนี้มักใช้วิธีการเน้นย้ำ ฉายรายการหรือโฆษณาให้เห็นอยู่ทุกวัน จนคนดูเกิดความอยากรู้ อยากลอง โน้มเอียงไปตามคำชวนเชื่อ

“ขณะที่พวกรายการทางการเมือง ผมมองว่าอันตรายไม่เท่า เพราะถึงยังไงมันคงไม่สามารถมอมเมาผู้คนเพื่อผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ชัดเจนเท่ากับรายการประเภทนั้น และถ้าเมื่อใดที่เขามุ่งเน้นผลประโยชน์มากกว่าสาระ ผมว่าคนดูก็เขารู้ทัน และเลิกเชื่อไปเอง”

ถึงเวลาควบคุมโดยด่วน

จากภัยมืดที่แฝงมากับรายการดาวเทียมนี้เอง สมัชชาจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่น่าจะมีองค์กรใดสักองค์กรหนึ่งเข้ามาตรวจสอบเนื้อหา เพื่อไม่ให้เนื้อหาเหล่านี้หลุดรอดออกไปได้อีก แต่ทั้งนี้ นโยบายที่ออกมานั้น จะต้องไม่ริดรอนสิทธิเสรีภาพในการรับข่าวสารของประชาชน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

ขณะที่ รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม ในฐานะว่าที่กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ก็มีความเห็นที่สอดคล้องว่า เรื่องนี้ต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดและจริงจัง โดยเฉพาะรายการที่มีเนื้อหาล่อลวงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาหรือสุขภาพซึ่งทุกวันนี้มีอย่างเกลื่อนกลาดและเป็นอันตรายอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างๆ ก็คงจะยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในช่วงนี้ เพราะติดปัญหาคณะกรรมการ กทช. ชุดใหม่ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ทำให้ไม่สามารถเริ่มทำงานได้อย่างจริงจัง

“จริงๆ แล้วพระราชบัญญัติจัดสรรคลื่นความถี่ ออกมาตั้งแต่ปี 2543 แล้ว และมีการระบุให้มี กสช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) เข้ามาดูแล แต่นี่มันปี 2553 ก็ยังไม่มี และกฎหมายก็เพิ่งเอาอำนาจมาให้ กทช. เมื่อปี 2551 ทำให้กว่าจะลงมือทำงานจริงๆ ก็ปี 2552 ไปแล้ว แถมช่วงนี้เพิงมีการเลือก กทช. ชุดใหม่อีก ตอนนี้คนใหม่ก็ยังเข้ามาทำงานเต็มตัวไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เอง ผมว่ามันเป็นช่องว่างที่ทำให้มีคนออกมาดำเนินธุรกิจตรงนี้ค่อนข้างมาก”

ว่าที่ กทช. กล่าวต่ออีกว่า ทุกวันนี้เรื่องทีวีดาวเทียมนั้นมีความซับซ้อนทางกฎหมายสูงมาก อย่างเรื่องการตีความว่าทีวีดาวเทียมนั้นเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตใช้คลื่นความถี่หรือเปล่า แต่ถ้าพูดในแง่ปฏิบัติก็คงไม่มีปัญหา เพราะถึงผู้ประกอบการจะสามารถเช่าความถี่ดาวเทียมได้ แต่ถ้าจะประกอบธุรกิจจริงก็ต้องมาขออนุญาตอยู่ดี ซึ่งตรงนี้ก็จะครอบคลุมไปถึงสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ออกอากาศก่อนหน้านี้ด้วย

“จริงๆ แล้วเรามีกระบวนการแก้ปัญหามากมาย อย่างบุคลากร เราสามารถโอนมาจากกองกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ของกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเคยมีหน้าที่ดูแลตรงนี้ได้ทันที แต่ตอนนี้หมดอำนาจไปแล้ว เพราะเขามีความชำนาญอยู่แล้ว

“ขณะที่มาตรการดูแลก็จะมีค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่การเรียกมาตักเตือน จนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต และดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งถ้า กทช. ชุดใหม่เริ่มทำงานแล้วก็สามารถดำเนินการได้ทันที”

คน (เขา) 'ดู' กันบ้างหรือเปล่าเนี่ย!

แต่ก็มีเรื่องหนึ่งที่อดสงสัยไม่ได้ นั่นคือ ประชาชนที่ติดจานเทียม จริงๆ แล้วเขารู้สึกอย่างไรบ้าง เวลาดูรายการเหล่านี้ เพราะอย่างที่ทราบ ทุกวันนี้ทีวีดาวเทียมไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือจำกัดเฉพาะคนมีเงินถุงเงินถังอีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้แม้แต่ตาสีตาสีก็ยังมีจานดาวเทียม

เริ่มจากความคิดเห็นของ หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ไชยันต์ ส.ส.แบบสัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ซึ่งเป็นอีกคนที่ติดตามวงการทีวีดาวเทียมมาโดยตลอด

“ที่บ้านติดทีวีดาวเทียมมานานแล้วค่ะ ลูกเขยเขาติดให้ เขาบอกต้องติดไว้ดูข่าวสารบ้านเมือง พอเขาติดให้แล้วก็ดูบ้าง ไม่ดูบ้าง แต่ถ้าดูส่วนมากก็จะเน้นข่าวสาร โดยส่วนตัวแล้วมองข้อดีของทีวีดาวเทียมคือความรวดเร็วค่ะ ต่างจากฟรีทีวีที่ช้ามาก เช่น ข่าวบ้านนายกฯ ทีวีดาวเทียมฉายวนเป็นร้อยรอบแล้วมั้ง ข่าวในฟรีทีวีเพิ่งจะมาถึง”

ขณะที่ กรชนก นักศึกษาชั้นปี 2 สถาบันแห่งหนึ่ง เล่าว่า สำหรับตนแล้วทีวีดาวเทียมสามารถตอบสนองเธอได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะรายการประเภทบันเทิงเริงรมย์

“ส่วนใหญ่ดูละครไทยเก่าๆ ที่นำกลับมาฉายใหม่ช่วงหัวค่ำ อาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง ละครไทยเก่าๆ พวกนี้หาดูยากค่ะ บางเรื่องไม่เคยดูมาก่อน หรือบางทีช่องดาวเทียมก็นำละครที่จบไปแล้วซึ่งเราไม่ได้ดูมาฉายใหม่ รายการเพลงก็ดูบ้างค่ะ”

แม้ทีวีดาวเทียมจะมีช่องรายการที่หลากหลาย แต่ฟรีทีวียังคงเป็นช่องทางรับชมหลักของเธออยู่เช่นเดิม

“รายการในทีวีดาวเทียมมีทั้งที่น่าสนใจและไม่น่าสนใจ ยิ่งการดำเนินรายการ ระบบภาพ ระบบเสียงไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ พิธีกรบางคนพูดไม่ชัด แต่ทางรายการเลือกมาเป็นพิธีกรนำเสนอเนื้อหามันทำให้รายการดูไม่น่าเชื่อถือ แถมเนื้อหารายการก็ซ้ำวนไปวนมา อย่างละครตอนหนึ่งนำกลับมาออกซ้ำวันละ 3 ครั้งก็มี”

ส่วน วรุต คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ติดตั้งจานดาวเทียมมาเป็นเวลากว่า 1 ปี บอกว่า แม้จะมีรายการให้เลือกกว่า 30 ช่องแต่กลับแทบไม่ได้ดูเลย เพราะไม่มีเวลา ส่วนใหญ่ที่ดูจะเป็นลูกกับภรรยามากกว่า

“แฟนกับลูกชอบดูช่องเพลงลูกทุ่ง กับช่องหนังไทยเก่าๆ พอลูกเลิกเรียนหรือแฟนกลับจากขายของสัก 4-5 โมง ก็จะมาดูมิวสิกวิดีโอ ร้องเพลงตามทั้งแม่ทั้งลูกเลย”

เหตุผลหนึ่งที่วรุตเลือกติดตั้งจานดาวเทียม เพราะเห็นถึงข้อดีว่าการติดตั้งเสาอากาศก้างปลาที่สัญญาณภาพไม่ค่อยชัดเจน และแม้จะมีช่องในทีวีดาวเทียมให้เลือกดูนับไม่ถ้วน แต่บางครั้งวรุตก็หันมาดูข่าวและรายการเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมในฟรีทีวี
…..............

ถึงทุกวันนี้ ประชาชนจะมีสถานีโทรทัศน์ให้เลือกดูเยอะก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะดูทุกช่อง

“ผมเชื่อว่าถึงตอนนี้จะมีช่องมากแค่ไหน แต่ช่องที่มีคนดูจริงๆ ก็ไม่คงไม่เยอะมาก” คำกล่าวสั้นๆ จากนายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งประเทศไทยคงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า จำนวนช่องที่เยอะไม่ได้มีความหมายเลย เพราะไม่ว่าต่อให้คุณทำทีวี 100 ช่อง แต่จะมีสักกี่คนที่จะดู เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดชองการทำรายการนั้นคือคุณภาพและเนื้อหาต่างหาก ที่จะทำให้รายการนั้นอยู่ได้ และติดตรึงในความรู้สึกของผู้คนตลอดไป
************

เรื่อง : ทีมข่าว Click
ภาพ : ทีมภาพ Click





กำลังโหลดความคิดเห็น