xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.ประสิทธิ์” ปัดมีแทรกแซงคัด 2 กทช. ยันไม่พบประวัติเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ส.ว.ประสิทธิ์” ยันไม่มีฝ่ายการเมืองก้าวก่ายการสรรหา กทช. ลั่นไม่มีล็อบบี้ ไปถามทุกองค์กรแล้ว ไม่พบมีประวัติทุจริต คาดเป็นพวกเสียประโยชน์ทางการเมืองถวายฎีกาให้ระงับทูลเกล้าฯ 2 กทช. “สาทิตย์” ยันทำตามกฎหมาย

วันนี้ (1 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี ประธานคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กทช.(กรณีกรรมการลาออก) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ยื่นทูลเกล้าฯถวายฎีกาไปยังสำนักราชเลขาธิการขอให้ระงับการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อ กทช.คนใหม่ที่ได้รับเลือกจากวุฒิสภาเพิ่มอีก 2 ราย โดยอ้างว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม 2543 ขัด รัฐธรรมนูญและกระบวนการสรรหามิชอบด้วยกฎหมายว่า ทราบจากข่าวแล้ว แต่ตนยังเห็นว่าที่มีการระบุว่ามีขบวนการการเมืองเข้ามาก้าวก่ายเร่งรัดการสรรหา กทช.นั้น ยืนยันว่าในส่วนวุฒิสภาไม่มี และเห็นว่าเป็นสำนวนปกติของการร้องเรียนที่มักใช้คำว่าการเมืองก้าวก่าย และถ้าจะบอกว่ามีการล็อบบี้คงไม่ใช่ เพราะผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 2 คน ก็มาชี้แจง และแนะนำตัวกับ ส.ว.ทั้ง 2 คน

นายประสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องคุณสมบัติที่มีการระบุว่า วุฒิสภาไม่ได้พิจารณาประวัติของผู้รับการสรรหา ที่ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ทุจริตประพฤติมิชอบนั้น ขอยืนยันว่า กมธ.ได้พิจารณาแล้วตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และได้สอบถามไปทุกองค์กรขอประวัติเชิงลึก ซึ่งไม่พบ แม้แต่ ป.ป.ช.เองก็แจ้งมาว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 2 คนไม่มีเรื่องร้องเรียนใดๆ ทั้งนี้ สมมติว่า แม้จะมีเรื่องร้องเรียน ตามรัฐธรรมนูญก็บัญญัติว่า ยังไม่ขาดคุณสมบัติเข้ารับการสรรหา เพราะคนที่ขาดคุณสมบัติต้องเป็นคนที่ถูกศาลพิพากษาจนถึงที่สุดแล้ว เพียงแต่หากผู้ที่สมัครมีเรื่องถูกร้องเรียน สมัครมาวุฒิสภาก็คงไม่เลือก นอกจากนี้ ที่มีการระบุว่าขั้นคณะกรรมการสรรหามีปัญหา มีกรรมการสรรหารายหนึ่งไม่ถูกต้องนั้น ในชั้น กมธ.ของวุฒิสภา ก็ตรวจสอบแล้วแต่ไม่พบปัญหาดังกล่าว

นายประสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องมาตรา 305 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 47 ว่า ด้วยการให้มีองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนามเป็นองค์กรเดียว มาบังคับใช้จนกว่าจะมีการออกกฎหมายลูกตามมาตรานี้ และกำหนดเวลาว่า หากจะใช้ได้ ก็ไม่เกิน180 วัน นับแต่วันที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น ตนคิดว่ากฎหมายลักษณะอย่างนี้มีเต็มไปหมด ยังไม่ได้มีการออกกฎหมายลูกใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญ 50 บัญญัติ ให้แก้ไขกฎหมายเดิมให้สอดคล้อง แต่ก็มีการบังคับใช้กฎหมายเก่าอยู่หลายองค์กร เช่น ระเบียบวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่มีการออกแต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินได้ ฉะนั้นกฎหมายนี้ก็เช่นกัน เมื่อกำลังร่างใหม่ให้มีองค์กรเดียว คือ กสทช. แต่การตีความ ณ ปัจจุบันก็ต้องให้เดินหน้าได้ ถ้าไม่ตีความให้เดินหน้า กฎหมายก็จะเปล่าประโยชน์ และกรณีนี้กฎหมายเดิมก็ยังมีอยู่และรัฐธรรมนูญก็ยังรองรับอยู่ ทั้งนี้ ตนคิดว่าที่มีการร้องเรียนมาแบบนี้ ก็เป็นเรื่องการเมืองที่มีการเสียประโยชน์

ด้าน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การคัดเลือก กทช.เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ ปี 2543 และเป็นการสรรหาในตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นเรื่องของสภา ที่ต้องตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อเกิดปัญหา หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องให้ความเห็นยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาถูกต้องหรือไม่ ส่วนเรื่องของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ที่ยังสรรหาไม่ได้ ได้มอบให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการสรรหา กสช.จะใช้ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ ดำเนินการต่อไปได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น