xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนโวยต้นทุนพุ่งสวนราคาสินค้า ชี้ เงินเฟ้อไม่รุนแรง-ค้านขึ้น ดบ.นโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ประกอบการครวญธุรกิจปีกระต่ายเศร้า หลังแนวโน้มต้นทุนการผลิตพุ่งสวนทางราคาสินค้า ทั้งการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่ ดบ.อยู่ในช่วงขาขึ้น “บิ๊ก ส.อ.ท.” ชี้ เงินเฟ้อยังไม่รุนแรงจนถึงขั้น กนง.ต้องปรับอีกรอบ ในการประชุมวันที่ 12 ม.ค.นี้

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงสถานการณ์ทางธุรกิจในปี 2554 โดยระบุว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบการกำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น หลังจากปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ปี 2554 ส่งผลกระทบต่อฐานเงินเดือนพนักงานทั้งเก่า และใหม่หมด เนื่องจากผู้ประกอบการต้องขยับฐานค่าจ้างภาพรวม เพื่อมิให้เกิดปัญหาช่องว่างของค่าจ้างเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในช่วงขาขึ้น และยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะซ้ำเติมกระทบภาคการผลิต แต่ราคาสินค้าก็ขยับไม่ได้มากเพราะรัฐใช้นโยบายเข้มงวดในการตรึงราคา

“ในปีนี้ยอมรับว่าต้นทุนการผลิตเราสูงขึ้นทั้งค่าแรง วัตถุดิบ ดอกเบี้ย แถมยังมีค่าบาทที่แข็งค่าอีก ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจึงไม่เห็นด้วยหากจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง เพราะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูงขึ้นมาก”

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะการประชุมในวันที่ 12 มกราคม 2554 นี้ เพื่อกำหนดทิศทางดอกเบี้ย และมีความเป็นไปได้ว่า กนง.อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.00 อันจะมีผลให้ดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ขยับขึ้นตามไปด้วย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ข้อดีหลังจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คือ ทำให้ส่วนต่างของค่าจ้างแรงงานกลุ่มต่างๆ ลดลง แต่สิ่งที่น่าห่วง คือ ผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เชื่อว่า เมื่อปรับขึ้นค่าจ้างทั้งหมดจะเป็นภาระต้นทุนที่สูงพอสมควร และการขยับฐานเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นแล้วหากไม่ปรับให้แรงงานที่มีทักษะสูงด้วยแล้วอาจจะมีการย้ายที่ทำงานไปสู่บริษัทที่จ่ายค่าจ้างดีกว่าได้

“อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายการเมืองจะมาก้าวก่ายการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ และในช่วงกลางปี โดยเฉพาะวันแรงงาน มีความกังวลว่าแรงงานจะมีการเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างอีกครั้ง”

นอกจากนี้ การพิจารณาค่าจ้างควรปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เพราะในแต่ละจังหวัดย่อมมีความต้องการแรงงาน และต้นทุนที่ต่างกัน แต่ที่ผ่านมาพบว่า คณะกรรมการกลางกลับมีอำนาจพิจารณาโดยไม่ได้ดูเหตุ และผลตามที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา
กำลังโหลดความคิดเห็น