xs
xsm
sm
md
lg

คาดม็อบแดงยืดเยื้อบั่นทอน ศก.หากรุนแรง-ยุบสภา “จีดีพี” เหลือแค่ 2.7%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลัง แจงทิศทาง ศก.ไทย ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ พร้อมประเมินผลกระทบการชุมนุมยืดเยื้อเอาไว้ 3 ระดับ ชี้ หากมีเหตุรุนแรง-ยุบสภา “จีดีพี” หดตัวเหลือแค่ 2.7%



นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าจากปัญหาการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง อาจจะกระทบต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2553 โดยการทิศทางการเติบโตของ จีดีพี จึงขึ้นอยู่กับปัญหาดังกล่าวจะจบลงในช่วงใด

ทั้งนี้ หากการชุมนุมยืดเยื้อถึง ไตรมาส 2 จะส่งผลให้จีดีพีกระทบ 0.2% จาก 4.5% อาจจะเหลือโต 4.3% ถ้ายืดเยื้อถึงไตรมาส 3 จะทำให้จีดีพีกระทบ 0.5% โดยจะส่งผลให้จีดีพีลดลงเหลือโต 4% และหากยืดเยื้อถึง ไตรมาส 4 และมีเหตุการณ์รุนแรง และมีการยุบสภา อาจส่งผลกระทบให้จีดีพีหดตัวเหลือโต 2.7%

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา มีสัญญาณบวกอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน พร้อมกันนี้ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่งต่อเนื่อง

ดัชนีเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ 2553 บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศ มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคที่ขยายตัวสูงมาก

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องในระดับสูงที่ 23.1% ต่อปี โดยเป็นการส่งออกปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวดสินค้าและประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย

ส่วนการใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 4 ที่ 26.7% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัว 12.0% ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัว 26.0% ต่อปี สะท้อนการบริโภคสินค้าคงทนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นสะท้อนได้จากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวในระดับสูง 19.1% ต่อปี

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในด้านการผลิต พบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นมากเช่นกัน โดยเฉพาะผลผลิตอุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องจักรสำนักงาน และเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ

ขณะที่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเท่ากับ 1.64 ล้านคน หรือขยายตัว 44.3% ต่อปี สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังคงแข็งแกร่งสะท้อนได้จากอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น