รมว.พาณิชย์ ชี้ เอกชนกังวลปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้า-การส่งออกไตรมาส 2 ผู้ประกอบการเรียกร้องรัฐบาลดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป รมว.คลัง พร้อมดูแลค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้กระทบนักลงทุน
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาคเอกชนค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยต้องการให้รัฐบาลดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าให้ค่าเงินบาทผันผวนและแข็งค่า จนไม่สามารถแข่งขันได้ และหากให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เกรงว่าจะเป็นอุปสรรค์ต่อการเจรจาการค้าและยอดการส่งออกตั้งแต่ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เป็นต้นไป
รมว.พาณิชย์ เชื่อว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นเพียงภาวะผันผวนในระยะสั้น เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง น่าจะยังสามารถดูแลได้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่ปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ ที่ตั้งเป้าการส่งออกของประเทศจะขยายตัวได้ร้อยละ 14
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าเงิน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกข้าวในเดือนมีนาคม 2553 นี้ คาดว่า อาจจะลดลงเหลือ 650,000 ตัน, เดือนเมษายน 2553 เหลือแค่ 600,000 ตัน จากในช่วง 2 เดือนแรกของปี ที่สามารถส่งออกข้าวได้เดือนละ 700,000 ตัน โดยข้าวขาวและหอมมะลิไทย ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศในอาเซียนได้แล้ว เพราะราคาห่างจากคู่แข่งตันละ 200-300 ดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกจะเข้าหารือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง เร่งรัดให้รัฐบาลดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป เพราะขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าสุงสุดในอาเชียนแล้ว ทำให้เริ่มมีผู้ซื้อขอทบทวนราคาสินค้าใหม่ และวิตกว่า จะมีการบอกเลิกสัญญาซื้อล่วงหน้าไปอีก 1-2 สัปดาห์นี้
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยยอมรับว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยเศรษฐกิจ จึงเป็นการสะท้อนสภาพเศรษฐกิจไทย เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจประเทศอื่น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
หากประเมินจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวม หากค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แม้การนำเข้าสินค้าจะมีราคาลดลง และผู้ส่งออกจะลำบากมากยิ่งขึ้น โดยทางภาครัฐจะเร่งการลงทุนจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งในส่วนที่ใช้วัสดุจากต่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท