xs
xsm
sm
md
lg

สั่งแบงก์ดูแลเข้ม 3 ด้าน ธปท.แจงบาทแข็ง เพราะเงินไหลเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.สั่งแบงก์พาณิชย์ เตรียมความพร้อม 3 ด้าน รับมือเสื้อแดงปิดกรุง ชุมนุมใหญ่ ตัดสินใจปิด-เปิดสาขา ตู้เอทีเอ็ม และดูแลสภาพคล่อง พร้อมแจงบาทแข็งค่าช่วงนี้ เพราะเงินไหลเข้าเอเชีย

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์การชุมนุมใหญ่ทางการเมืองในช่วงสุดสัปดาห์นี้ใน 3 ด้าน คือ การเปิด-ปิดสาขา, การให้บริการตู้เอทีเอ็ม และการสำรองสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีความชัดเจนและมีความคล่องตัวในการตัดสินใจเปิด-ปิดสาขา และตู้เอทีเอ็ม อยู่แล้ว โดยสามารถทำได้ตามความจำเป็น ซึ่งการให้บริการตู้เอทีเอ็มยังคงเป็นไปตามปกติ เพียงแต่บางจุดที่มีความเสี่ยงอาจจะไม่เข้าไปเติมเงิน แต่ก็ต้องสร้างความเข้าใจให้ลูกค้าไปใช้บริการในจุดอื่นใกล้เคียง

ส่วนการสำรองสภาพคล่องนั้น เป็นเพราะช่วงนี้มีความต้องการใช้เงินสดอย่างมาก ซึ่ง ธปท.ก็เตรียมประเมินสถานการณ์และดูแลสภาพคล่องด้วย พร้อมกับดูแลความผันผวนของตลาดเงินหากเกิดความผันผวนมาก โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจและตลาดเงินให้ดำเนินไปตามปกติ

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เป็นผลจากเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย ซึ่ง ธปท.จะดูแลค่าเงินบาทให้มีความผันผวนน้อย เพื่อให้เอกชนสามารถปรับตัวได้ และให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยธปท.จะให้ความสำคัญกับการดูแลความผันผวนมากกว่าระดับค่าเงินบาท

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังเป็นขาขึ้น โดยขณะนี้รอจังหวะการปรับขึ้น ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อวานนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ภาวะเงินไหลเข้านอกจากจะทำให้บาทแข็งค่าแล้ว ก็จะทำให้ภาวะราคาสินค้าสูงขึ้นด้วย

นายบัณฑิต กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก กลับเข้าสู่ปกติ คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะไม่กระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และขณะนี้ตอนนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากปรับขึ้นดอกเบี้ยก็คงจะไม่ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้จนกระทั่งกลายเป็นหนี้เสีย (NPL)

ดังนั้น การปรับดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์/พี) ธปท.จะให้ความสำคัญกับการปรับตัวของภาคธุรกิจและตลาดการเงิน จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ ซึ่งการปรับดอกเบี้ยขึ้นจะไม่ทำให้เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น