xs
xsm
sm
md
lg

ชินคอร์ปโต้ทำถูก กม.ขู่ฟ้องนักวิชาการ-ICT ลั่นไม่มีมวยล้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3 บิ๊กชินคอร์ป เอไอเอส ไทยคม ตบเท้าแจงข้อเท็จจริงผลกระทบคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ประวัติศาสตร์ ยันยังไม่มีความขัดแย้งระหว่างคู่สัญญา หากเกิดข้อพิพาทมีกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายอยู่แล้ว ตบปากนักวิเคราะห์ นักวิชาการพิพากษาบริษัทเกินคำตัดสิน รุดสั่งทีมกฎหมายเข้าดำเนินการ ชี้ ที่ผ่านมา ทีโอทีได้ส่วนแบ่งรายได้ไปนับแสนล้าน และหากกลับไปใช้สัมปทานเดิม ทีโอทีก็ไม่ควรให้บริการไทยโมบายล์ ได้ เช่นเดียวกับเอ็กซิมแบงก์ พม่าใช้ 320 ล้านซื้อบริการไทยคม ด้าน รมว.ไอซีที ย้ำต้องพิจารณารอบด้าน ยืนยันไม่มีมวยล้มต้นคนดู เตรียมขอเอกสาร ป.ป.ช. คตส.เพิ่ม กรณีไอพีสตาร์


วานนี้ (10 มี.ค.) นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) และ นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานเจ้าหน้าที่คณะผู้บริหาร บมจ. ไทยคม (THCOM) ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 26 ก.พ.53 ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท และบริษัทในกลุ่มหลายประการ

ชินคอร์ปโต้บริษัทไม่เกี่ยว
นายสมประสงค์ กล่าวว่า ผลการพิพากษาของศาลจำกัดอยู่เฉพาะประเด็นที่ว่าทรัพย์สินบางส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้นเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น ไม่ได้มีผลตัดสินหรือให้บริษัทและบริษัทในกลุ่มต้องดำเนินการชดใช้ความเสียหายใดๆ เพราะไม่ใช่คู่ความในคดีทั้งนี้บริษัท และบริษัทในกลุ่มไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของฝ่ายบริหาร การเมือง และได้มุ่งให้บริการลูกค้าและประชาชนอย่างเต็มความสามารถโดยได้ปฎิบัตทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย และสัญญาโดยความสุจริตตลอดมา ซึ่งบริษัท และบริษัทในกลุ่มมีสิทธิโดยชอบตามกฎหมายและสัญญาที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงและความสุจริตใน

ส่วนของบริษัทต่อไปในการดำเนินการใดๆของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายและหลักความยุติธรรม โดยไม่มีกระบวนการและขั้นตอนใดที่ไปดำเนินการรวบรัดหรือกระทำการโดยพลการเพียงฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม หากคู่สัญญาสัมปทานเอไอเอส คือบริษัท ทีโอทีและคู่สัญญาของบริษัท ไทยคมคือกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ต้องการเรียกร้องความเสียหายจากบริษัท และบริษัทในกลุ่ม ก็พร้อมต่อสู้จนสิ้นสุดตามกระบวนการของกฎหมาย โดยเบื้องต้นการเรียกร้องนั้น คู่สัญญาจะต้องเข้ามาเจรจากับบริษัท และบริษัทในกลุ่ม ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ หากผลออกมาไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ต้องเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรมต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดถึงกระบวนการสุดท้าย

แต่ในขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาเรียกร้องความเสียหายจากบริษัท ฉะนั้น บริษัทในกลุ่มถือว่ายังไม่มีคู่คดีกับผู้ใด รวมทั้งบริษัทยังไม่ได้ถูกคำพิพากษาตัดสินใดๆจากศาล แต่กลับกันมีนักวิชาการและนักวิเคราะห์ ออกมาเขียนคำตัดสินวิพากษ์วิจารณ์บริษัท แทนคำพิพากษาของศาล ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่มีจริยธรรม และขณะนี้บริษัทและบริษัทในกลุ่มอยู่ระหว่างการตรวจสอบคำวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการนักวิเคราะห์เหล่านี้ว่าเข้าขั้นละเมิดสิทธิ์ของบริษัทหรือไม่ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าผู้ถือหุ้นเทมาเส็ก ต้องการขายหุ้นชินคอร์ปออกไปนั้นบริษัทยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากผู้ถือหุ้น ส่วนการขายหุ้น ESOP ของผู้บริหารบางคนนั้นถือว่าเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน โดยปัจจุบันเทมาเส็กได้รับปันผลจากชินคอร์ปไปแล้วประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

นายสมประสงค์ กล่าวชี้แจง 7 ประเด็นในคำพิพากษาของศาลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ บริษัท และบริษัทในกลุ่มว่าประเด็นที่ 1 เรื่องภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลสมัยนั้น เห็นว่าเมื่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทช.เกิดขึ้นในปี 2547 อำนาจการกำกับดูแลของทีโอทีและบริษัท กสท โทรคมนาคม ก็เปลี่ยนไปเป็นของ กทช.และทั้งสองหน่วยงานกลายเป็นเพียงผู้ประกอบการ ดังนั้น รัฐจึงเห็นว่าควรให้เงินจากการกำกับดูแลเปลี่ยนเป็นรูปภาษีสรรพสามิตเข้าสู่รัฐโดยตรง เรื่องนี้ถือเป็นกลไกที่รัฐกำหนดขึ้น และผู้ประกอบการทุกรายรวมถึงเอไอเอส ก็ยังคงจ่ายเงินเท่าเดิมเข้ารัฐและกรมสรรพสามิตจากเดิมจ่ายเข้าทีโอทีทางเดียว

ประเด็นที่ 2 การปรับลดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินหรือพรีเพดเป็น 20% จนหมดอายุ สัญญาสัมปทานจากเดิมจ่ายเป็นอัตราก้าวหน้า 25-30% การดำเนินการดังกล่าวเอไอเอสได้ส่งเรื่องไปยังทีโอที และทีโอทีได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาสภาพตลาด ต่อมาก็เห็นชอบอนุญาตเซ็นสัญญาใหม่ซึ่งเป็นการแก้ไขสัญญา แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ชัดว่า เอไอเอสจะต้องนำส่วนลดที่ได้ไปลดค่าบริการให้ประชาชนส่งผลให้ค่าบริการถูกลงและมีผู้ใช้บริการมากขึ้นทำให้เอไอเอสส่งส่วนแบ่งรายได้เข้าทีโอทีได้มากกว่าเดิม และเอไอเอสยังได้มีการขยายเครือข่ายให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานเพิ่มขึ้นและส่งมอบให้ทีโอทีตามสัญญา BTO ซึ่งเท่ากับว่าทีโอทีได้ประโยชน์ 2 ทางทั้งส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น และจำนวนโครงข่ายที่ใหญ่ขึ้น

ประเด็นที่ 3 เรื่องการโรมมิ่งกับบริษัท ดิจิตอลโฟน หรือ ดีพีซี การแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถืออนุญาติให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน และหักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และการปรับลดอัตราค่าโรมมิ่งเป็นการคิดอัตราค่าบริการระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้ โดยเกิดขึ้นในต่างประเทศ (อินเตอร์เนชั่นแนล โรมมิ่ง) ก่อนที่จะนำมาใช้ในประเทศ (โดเมสติก โรมมิ่ง) โดยการโรมมิ่งไม่ใช่การเข้าไปเช่าใช้โครงข่าย แต่การโรมมิ่งเป็นเทคนิคทางวิศวกรรมที่ให้ผู้ใช้จากผู้ให้บริการรายหนึ่ง สามารถเข้าไปใช้เครือข่ายผู้ให้บริการอีกรายหนึ่ง

ประเด็นที่ 4 เรื่องไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ บริษัทไทยคมดำเนินการตามขั้นตอนและได้ขออนุญาตถูกต้อง ไม่ได้เป็นการกระทำโดยพลการ ก่อนการยิงไทยคม 4 มีเทคโนโลยีใหม่ จึงตั้งใจสร้างไอพีสตาร์บนเทคโนโลยีใหม่ และได้นำเรื่องหารือไอซีที และได้มีการศึกษาการยิงไอพีสตาร์ร่วมกัน แล้วจึงส่งดาวเทียมขึ้นอวกาศ

ประเด็นที่ 5กรณีเงินเคลมประกันไทยคม 3 เมื่อไทยคม 3 เสียและต้องปลดระวางก่อนหมดอายุการใช้งาน บริษัทได้ส่งดาวเทียมไทยคม 5 ขึ้นไปทดแทนโดยไทยคมได้นำเงินเคลมประกันของไทยคม 3 ประมาณ 32 ล้านเหรียญมาสร้างไทยคม 5 ซึ่งก็ไม่เพียงพอเพราะบริษัทต้องใช้เงินลงทุนไทยคมถึง 100 ล้านเหรียญ โดยการที่ไทยคมนำเงินเคลมประกันไปใช้ในการจัดหาดาวเทียมทดแทนดาวเทียมดวงเก่าเป็นไปตามสัญญาสัมปทาน

ประเด็นที่ 6 กรณีรัฐให้รัฐบาลพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงก์ 4,000 ล้านบาทนั้น บริษัทไม่เกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น เพราะรัฐบาลพม่าใช้เงินเพียง 320 ล้านบาทมาซื้อบริการไทยคม และก่อนหน้านั้นรัฐบาลพม่าซื้อบริการไทยคมใช้อยู่แล้ว

ประเด็นที่ 7 กรณีการขอลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปในบริษัทไทยคมจาก 51% เป็น 40% นั้นกระทรวงไอซีทีได้ทำหนังสือถามความเห็นจากสำนักงานอัยการสูงสุดและได้รับคำตออบว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และบริษัทยังมีหน้าที่รับผิดชอบตามสัญญาสัมปทานทุกประการ

“การตัดสินใจแถลงข่าวครั้งนี้ เพราะมีข่าวปรากฏในที่ต่างๆในช่วงระยะเวลา 12 วันที่ผ่านมา เช่น บริษัทจะถูกเรียกเงินชดเชยเป็นแสนล้านเป็นต้น ฝ่ายบริหารต้องทำให้เกิดความกระจ่างว่าในเรื่องค่าปรับต่างๆนั้น บริษัทยังไม่ได้รับการติดต่อมาแต่อย่างใด กระบวนการยังอีกยาวไกล และยังไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่”นายสมประสงค์กล่าวและย้ำว่ากรณีที่เกิดขึ้นต่างจากไอทีวี เพราะเอไอเอสและไทยคม ไม่ได้มีความขัดแย้งในสัญญาแต่อย่างใด

“ถ้าผมเป็นทีโอที จะมองว่าเอไอเอสเป็นตัวสร้างรายได้ ต้องทำอย่างไรให้เอไอเอสมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้เกิดประโยชน์ให้มาก ไม่มีเหตุผลที่จะทำอะไรมาหักล้างและที่ผ่านมาทีโอทีได้ส่วนแบ่งรายได้จากเอไอเอสนับแสนล้านบาท”

ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะผู้บริหาร เอไอเอสกล่าวว่าหากสุดท้ายเอไอเอสจะต้องกลับไปใช้สัญญาสัมปทานเดิม ทีโอทีก็ไม่สามารถให้บริการไทยโมบายล์ ได้เพราะการแก้ไขสัญญาพรีเพดของเอไอเอสแลกกับการเปิดเสรีให้ทีโอทีสามารถให้บริการโทรศัพท์มือถือได้ รวมทั้งเรื่องโครงข่ายหรือทรัพย์สินต่างๆที่โอนให้รัฐไปแล้วจะดำเนินการเช่นไร

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานเจ้าหน้าที่คณะผู้บริหารไทยคมกล่าวว่า ต้องถามรัฐว่าโอกาสยิงดาวเทียมดวงใหม่จะเป็นอย่างไร ในส่วนของไทยคมเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจต่อไปภายหน้าไว้แล้ว

'ระนองรักษ์'ยันต้องดูรอบด้าน
ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที กล่าวว่าแนวทางการทำงานของตนจะยึด1.ผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลักและ2.ตามลายลักษณ์อักษรในสัญญาสัมปทาน และขอให้มั่นใจว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จตามคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีทีเป็นประธาน จะทำหน้าที่ตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐรวมถึงองค์กรของรัฐ และหาผู้เกี่ยวข้องในการสร้างความเสียหายแก่รัฐพร้อมมูลค่าความเสียหายเพื่อดำเนินการทางแพ่งตามหน้าที่ของไอซีที

“ไอซีทีการันตีความโปร่งใสในการทำงานของผู้ตรวจฯ รับรองทำงานตรงไปตรงมา ไม่มีมวยล้มเด็ดขาด”

รมว.ไอซีทีกล่าวว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงไอซีทีโดยตรงคือเรื่องดาวเทียม ซึ่งเอกสารที่กระทรวงมีอยู่เกี่ยวกับคู่สัญญาไม่ครบถ้วน ขาดเอกสารบางรายการซึ่งไอซีทีกำลังประสานกับคตส. ปปช.และสำนักงานอัยการเพื่อขอเอกสารเพิ่มเติม แต่เท่าที่มีข้อมูลในมือทำให้เกิดข้อสงสัยหลายอย่างเช่นดาวเทียมแบ็กอัพดวง 3 อยู่ที่ไหนหรือกรณีไอพีสตาร์ อย่าเพิ่งพูดเรื่องผิดหรือถูก แต่ถามว่าไอพีสตาร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไรดีกว่า ไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมคนละระบบกับไทยคม 1หรือ 3 ถามว่าไอพีสตาร์เกิดขึ้นมาครม.ทราบหรือไม่ ได้รับอนุมัติจากใคร ต้องดูประเด็นนี้ก่อน

“ประเด็นดาวเทียมถือว่าน่าหนักใจสำหรับไอซีที เพราะขึ้นกับไอซีทีโดยตรง ไอซีทีเป็นเจ้าของดาวเทียม ไม่เหมือน 2 องค์กรทั้งทีโอที และกสทที่มีบอร์ดมีขั้นตอนอนุมัติ ซึ่งจู่ๆบอร์ดจะอนุมัติไม่ได้ ต้องปรึกษาสภาพัฒน์ฯปรึกษากฤษฎีกาและเข้าครม.”

ทั้งนี้ รมว.ไอซีที กล่าวว่า ภายใน 30 วันคณะกก.ชุดดังกล่าวก็ทำงานไปตามปกติ ทำงานไปตามที่ศาลตัดสิน แต่ไม่ทราบว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เพราะถ้ายื่นอุทธรณ์ต้องดูว่าประเด็นไหน แล้วเอามาเป็นตัวตั้งพิจารณาอีก

สำหรับขั้นตอนต่อไปคือ 1.ถ้าทำให้ภาครัฐเสียหายก็ต้องฟ้องทางแพ่ง และ 2.ดูว่าการแก้ไขสัญญานั้นเกี่ยวข้องกับใคร เพราะคนแค่คนสองคน มานั่งแก้สัญญากันก็คงเป็นไปไม่ได้ ก็คงต้องทั้งคณะแต่มีใครบ้างก็ต้องดูตัวบุคคล คณะกก.ดูข้อมูลทั้งหมดและชี้ประเด็นออกมา ไอซีทีมีหน้าที่หาข้อเท็จจริงส่วนการฟ้องร้องเป็นเรื่องของอัยการ
กำลังโหลดความคิดเห็น