ผู้บริหารชินคอร์ป เปิดแถลงข่าวโต้สิบทิศ ทั้งนักวิชาการ นักวิเคราะห์ และคอลัมนิสต์ ด่ากราด ไม่มีมารยาท-ขาดจริยธรรม เพราะดันไปวิพากษ์วิจารณ์ล่วงหน้า โดยไม่รอให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินให้เสร็จก่อน ชี้ ความเห็นการจ่ายชดเชยแสนล้าน-การจ่ายปันผลเทมาเส็ก อาจมีความผิดทางละเมิด พร้อมแจงประเด็นไทยคม 6 ภาษีสรรพสามิต และการปล่อยกู่พม่า ทุกอย่างใสปิ๊ง
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหา บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN (ชินคอร์ป) เปิดแถลงข่าวชี้แจงหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิจารณาตัดสินคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มชินคอร์ป ดังนั้น จากแสดงความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ทั้งนักวิชาการ นักเคราะห์ คอลัมนิสต์ ในช่วงที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าไม่มีมารยาทและขาดจริยธรรม ซึ่งควรต้องรอให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชินคอร์ปให้เสร็จก่อนจึงค่อยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น ผู้บริหารจึงต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงในวันนี้
“เราเห็นว่า ผลคำพิพากษาฎีกานั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะประเด็นทรัพย์สินของนักการเมืองที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น และบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางการเมืองแต่อย่างใด โดยยืนยันว่า บริษัทไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ ในช่วงที่ผ่านมา และยังได้ยึดดำเนินการตามสัญญามาตลอด เพราะเอไอเอสเป็นคู่สัญญากับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งหากหน่วยงานรัฐ ระบุว่า มีความเสียหายเกิดขึ้น ก็ต้องเรียกค่าชดเชย และประสงค์ใดๆ ต้องติดต่อมาด้วยเหตุผลทางกฎหมายและทำตามสัญญา เพราะคณะกรรมการประเมินความเสียหายเป็นเรื่องของกระทรวงไอซีที”
โดยกลุ่มชินคอร์ป ยังเชื่อมั่นความยุติธรรมที่มีอยู่ในประเทศ จึงต้องการขอให้เดินไปตามกระบวนการของอนุญาโตตุลาการและกระบวนการทางศาล โดยเฉพาะการวิจารณ์จากฝ่ายต่างๆ นั้น ทางบริษัทอยากให้เรื่องเหล่านี้ผ่านการตัดสินของกระบวนการยุติธรรมให้ยุติ จึงกำลังพิจารณาทางกฎหมายว่า ความเห็นเหล่านี้มีความผิดทางละเมิดกับกลุ่มชินคอร์ปหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีระบุว่าอาจต้องชดใช้เงินนับแสนล้านบาท จึงต้องชี้แจงความจริงไม่ให้กระทบกับประชาชนและนักลงทุน และกรณีจ่ายเงินปันผลให้กับกลุ่มเทมาเส็กนั้น ดำเนินการภายใต้กฎหมายบริษัทจดทะเบียน ผู้ร่วมทุนต่างได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด ทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) นักลงทุนสถาบันอื่นๆ และนักลงทุนรายย่อย
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ขั้นตอนการจัดส่งดาวเทียมไทยคมออกสู่อวกาศ เป็นไปตามกฎหมายทุกขั้นตอน สำหรับขั้นตอนการส่งดาวเทียมดวงที่ 6 ไปสู่อวกาศ ยังเดินหน้าตามขั้นตอนเหมือนเดิม และยืนยันว่ากรณีผลการพิพากษาฎีกา จะไม่มีปัญหาเหมือนกับหุ้นไอทีวี จนทำให้องค์กรยุบหายไป กรณีดังกล่าวเป็นความขัดแย้งทางสัญญาของไอทีวีกับสำนักนายกรัฐมนตรี แต่กรณีนี้กลุ่มชินคอร์ป ไม่ได้มีปัญหาข้อขัดแย้งกับคู่สัญญาบริษัททีโอที และ กสท โทรคมนาคม
ดังนั้น กลุ่มชินคอร์ป จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ ดังนี้ กรณีภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลไทยรักไทย (ทรท.) เนื่องจากเห็นว่า ทีโอที กับ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้กำกับดูแล เมื่อมีการตั้ง กทช.ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลเอกชนแล้ว รัฐบาลช่วงนั้นเห็นว่ารายได้ค่าสัมปทานของทีโอที และ กสท ควรเป็นส่วนของผู้กำกับดูแล ส่วนค่าธรรมเนียมบริการที่คิดจากประชาชนก็ควรส่งเข้าคลังผ่านภาษีสรรพสามิต ซึ่งเห็นว่าบริษัทเอกชนทุกรายก็ต้องจ่ายให้กับทั้งสองส่วนเหมือนกัน
กรณีการปรับลดค่าสัมปทานส่วนแบ่งรายได้ ทีโอทีได้ทำการศึกษาสภาพตลาดแล้วจึงได้แก้ไขสัญญาอนุญาตให้เอไอเอสดำเนินการ แต่เห็นว่าส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลงไปนั้น เป็นการคืนให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ ไม่ใช่บริษัทเก็บเอาไว้เอง ทำให้ค่าบริการถูกลงจนดึงประชาชนมาใช้บริการมากขึ้นต่อเนื่อง จนทำรายได้ส่งกลับไปให้ทีโอทีมากขึ้นมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และเมื่อเครือข่ายเพิ่มขึ้น เอไอเอสต้องขยายเครือข่ายเพิ่มทรัพย์สินก็ตกเป็นของทีโอที
ส่วนการทำโรมมิ่งในการเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการในการเช่าเครือข่ายของบริษัทอื่น เพราะเมื่อลูกค้าเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องขอเช่าเครือข่ายของบริษัทต่างประเทศ เพื่อให้สามารถโทรติดต่อกันได้ ดังนั้น การโรมมิ่งในประเทศ หากพื้นที่ใด บริษัทเอกชนรายใด ไม่มีเครือข่ายหรือสถานที่ชุมชนแออัดมีการใช้โทรศัพท์จำนวนมาก จนไม่สามารถใช้เครือข่ายของตนเองได้ จึงต้องทำการโรมมิ่งสัญญาณของบริษัทอื่นให้ลูกค้าโทรติดต่อกันได้ทุกสถานที่ นับว่าเป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
ส่วนกรณีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้กับแก่ Myanma Foreign Trade Bank (MFTB) วงเงิน 4,000 ล้านบาท เพื่อหวังให้พม่าจัดซื้ออุปกรณ์จากไทยคมนั้น พม่าซื้ออุปกรณ์เพียง 320 ล้านบาทเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาได้ติดต่อกันมานานในการทำธุรกิจ และถือว่าเป็นเงินที่ซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวไม่มากนัก จึงไม่มีส่วนได้เสียในการปล่อยกู้ดังกล่าว
นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า กรณีผู้บริหารขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปออกไปนั้น ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่บริษัทจัดสรรหุ้นให้กับพนักงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเห็นว่าหุ้นดังกล่าวมีสัดส่วนน้อยมากเพียงร้อยละ 0.001 ของหุ้นทั้งหมดเท่านั้น คงไม่กระทบต่อราคาหุ้น และฝ่ายบริหารไม่ได้วิตกกังวลแต่อย่างใด ซึ่งการออกมาชี้แจงในครั้งหนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น
ส่วนกรณีการขอเงินภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อส่งไปให้ทีโอที และ กสท ต้องรอให้มีข้อยุติในกระบวนการยุติธรรม เพราะการจ่ายเงินภาษีสรรพสามิตในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย เป็นการจ่ายเงินเข้ารัฐ ส่วนค่าสัมปทานก็ต้องจ่ายให้กับทีโอที และ กสท ซึ่งก็เป็นหน่วยงานของรัฐ ยืนยันว่าการบริหารในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาการทำงานของผู้บริหารและพนักงาน ไม่ใช่มาจากผลพวงจากทางการเมือง
ส่วนการตัดสัญญาณโทรศัพท์ในช่วงมีการชุมนุมนั้น รัฐบาลมีอำนาจในการดำเนินการได้ เพราะมีกฎหมายรองรับหากมีเหตุฉุกเฉิน แต่หากจะมีการดำเนินการใดๆ มีหนังสือแจ้งมายังเอไอเอสให้รับทราบด้วย เพราะทุกครั้งเครือข่ายมีปัญหาลูกค้าจะโทร.มาต่อว่า เนื่องจากเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ แต่ทำไมยังมีปัญหาเครือข่าย