xs
xsm
sm
md
lg

“เทมาเส็ก” ก่ายหน้าผากเจ๊ง “ชินคอร์ป” ธุรกิจเน่า-หุ้นเสี่ยงขายไม่ออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วงการประเมิน เทมาเส็ก กระอัก...แม้อยากขายหุ้น ก็หาคนซื้อลำบาก เพราะธุรกิจมีความเสี่ยงจากการถูกแก้สัมปทาน และค่าปรับจำนวนมหาศาล ที่เป็นผลพวงมาจากการใช้ตำแหน่งนายกฯเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจของ “ทักษิณ” แม้ตลอด 4 ปีโกยเงินปันผลกลับสิงคโปร์ไปกว่า 5 หมื่นล้าน แต่ราคาหุ้นยังทรุดฮวบเกือบ 50% จากราคาเดิมเมื่อครั้งลงทุนแรกเริ่ม โบรกเกอร์หวั่น! โดนค่าปรับย้อนหลังมหาศาล ฉุดราคาหุ้นรูดหนัก จนอาจเป็นเหมือนไอทีวี โดยเฉพาะ “ไทยคม” พร้อมคาดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจลดง จากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นตามความเสี่ยง แต่ย้ำทุกฝ่ายต้องปฎิบัติเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไทย แม้ลดทอนความเชื่อมั่นต่างชาติ

นับว่าคราวเคราะห์ได้กลับมาเยือน “เทมาเส็ก” กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์อีกครั้ง หลังตัดสินใจซื้อหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) จากครอบครัวชินวัตร ที่ประกาศขายหุ้นทั้งหมด 49.6% ด้วยมูลค่า 7.66 หมื่นล้านบาทเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะล่าสุดเมื่อ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุชัดเจนถึงประเด็นความร่ำรวยผิดปกติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มชินคอร์ป ดังนั้น คำตัดสินของศาลที่ออกมาย่อมสะเทือนกลุ่มชินคอร์ป (SHIN) และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส เช่นกัน

ปัจจุบันเทมาเส็กก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “ชินคอร์ป” และ “เอไอเอส” โดยชินคอร์ปมีผู้ถือหุ้นเพียง 2 ราย คือ บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด 54.43% และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด 41.68% ขณะที่ ADVANC ก็มีชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 42.65% และINGTEL STRATEGIC INVESTMENTS PTE LTD. ในเครือเทมาเส็กอีก 19.17% แต่เมื่อ 4 ปีก่อน เทมาเส็กไม่ได้ใช้เงินเพียง 7.6 หมื่นล้านบาทซื้อหุ้นชินคอร์ปและเอไอเอสจากครอบครัวชินวัตรเท่านั้น เพราะยังต้องใช้เงินทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยจนทำให้ซีดาร์และแอสเพนเป็นผู้ถือหุ้น 100% ของ SHIN ขณะที่ในส่วนของ ADVANC ก็ถือหุ้นผ่านชินคอร์ปและสิงเทลรวมเกือบ 80% ทำให้ในครั้งนั้นต้องใช้เงินไปกว่า 1.4 แสนล้านบาท

คาดเทมาเส็กปล่อยขายยาก

แหล่งข่าววงการตลาดทุนรายหนึ่ง กล่าวถึงกรณีเทมาเส็กอาจปล่อยขายหุ้นที่ถืออยู่ใน SHIN และหุ้นที่ใน ADVANC โดย SINGTEL ว่า แม้มีข่าวว่าผู้บริหารของเทมาเส็ก อาจพิจารณารับข้อเสนอซื้อหุ้นจากผู้ที่สนใจ แต่การจะขายหุ้นทั้งหมดที่ตนถือใน SHIN และADVANC ออกไปเลยทันทีทันใด หรือในเร็วๆ นี้ คงไม่มีทางเป็นไปได้ ขณะเดียวกัน บริษัทก็ไม่สามารถนำหุ้นออกมาขายในตลาดได้ทีละมากๆ หรือทยอยปล่อยหมด รวมถึงการขายหุ้นล็อตใหญ่ เพราะตอนนี้ต้องนับว่าหุ้นในกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง ทำให้ผุ้ลงทุนไม่ค่อยสนใจ หรือกล้าซื้อหุ้นต่อจากเทมาเส็กในเวลานี้แน่

ขณะเดียวกัน หากประเมินผลตอบแทนที่ได้รับจากการเข้าลงทุนใน SHIN และ ADVANC ของเทมาเส็ก ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา (23 ม.ค.2549 ถึงปัจจุบัน) เทมาเส็กรับรู้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลจากการลงทุนใน SHIN พร้อมของบริษัทย่อย SINGTEL ในADVANC เป็นเงินรวมกันประมาณ 57,440 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 ใน 3 ของเงินที่ลงทุนทั้งหมดประมาณ1.4 แสนล้านบาท ในช่วงที่ซื้อหุ้นจากครอบครัวชินวัตร และทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์

แต่ความเปลี่ยนแปลงหลังคำพิพากษาดังกล่าว ย่อมไม่เป็นผลบวกโดยตรงต่อกลุ่มชินคอร์ป เมื่อช่องทางในการสร้างรายได้ของบริษัทลดลง กำไรในอนาคตของบริษัทย่อมต้องลดลงตาม เห็นได้จากการคาดการณ์ล่วงหน้าของกลุ่มเทมาเส็กที่เมื่อเข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ปแล้ว หลังจากนั้นทางเทมาเส็กได้สั่งจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ADVANC ซึ่งทุกปีจะจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 6.30 บาทเป็นเงินปีละ 18,682 ล้านบาท โดยเทมาเส็กรับปันผลในนามSHIN จำนวน 7,961 ล้านบาท และภายใต้ผู้ถือหุ้น ADVANC ยังมีบริษัท Singtel ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเทมาเส็กถือหุ้นราว 19.17% รับเงินไป 3,578 ล้านบาท รวมแล้วเทมาเส็กรับไป 11,540 ล้านบาทต่อปี

ล่าสุดคือเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ทาง ADVANC มีมติจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลังจากผลประกอบการปี 2552 จำนวน 3.30 บาทต่อหุ้นและปันผลพิเศษอีก 5 บาทต่อหุ้น รวมเป็น 8.30 บาทต่อหุ้น ทำให้ SHIN รับเงินปันผลไปเฉพาะงวดนี้ 10,489 ล้านบาทและ Singtel รับ 4,714 ล้านบาท

ดังนั้น หากประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ เชื่อว่าจะไม่เป็นผลดีต่อเทมาเส็กในระยะยาว เนื่องจากหากมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานให้กลับไปสู่สูตรเดิมกำไรของ ADVANC คงได้น้อยลง อีกทั้งหาก รัฐบาลประชาธิปัตย์เดินหน้ารื้อเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องนอกจากรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์จะลดลงแล้ว จะมีเรื่องอื่นๆตามมาอีกหรือไม่เช่นเรื่องค่าปรับต่างๆ แต่เงินปันผลที่จ่ายออกไปแล้ว 5.74 หมื่นล้านบาท คงเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะทบทวนใหม่ได้ เพราะเงินได้ออกไปสู่ต้นทางที่สิงคโปร์แล้ว

ขณะเดียวกัน แม้ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ถือหุ้นใน SHIN เทมาเส็กจะได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่สูง แต่กลับกันกำไรจากส่วนราคาหุ้นในการลงทุน ปัจจุบัน ยังต่ำกว่าราคาหุ้นที่ซื้อในวันแรก โดย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2549 ราคาหุ้น SHIN อยุ่ที่ระดับ 48.25 บาท (เทมาเส็ก ซื้อในราคา 49.25 บาท) ขณะที่ADVANC ในวันเดียวกันมีราคาอยู่ที่ 99.00 บาท แต่ปัจจุบัน (5 มี.ค.) SHIN ปิดที่ 26.50บาท ลดลง1.00บาท และADVANC ปิดที่ 76.75บาท ลดลง 4.50 บาท ซึ่งปรับตัวลดลง 22.75บาท และ 22.25บาท ตามลำดับ

ส่วนหากคิดเป็นมูลค่าการลงทุนในหุ้นครั้งแรก (49.25 บาท x 2,999,833,430 หุ้น) จะมีมูลค่า 1.477 แสนล้านบาท แต่ ณ ปัจจุบันเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง เม็ดเงินลงทุน(26.50 บาท x 2,999,833,430 หุ้น)จึงเหลืออยู่ที่ 7.949 หมื่นล้านบาท หรือหายไป 6.821 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับเม็ดเงินปันผลตลอด 4ปีที่ผ่านมาอีกประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท เทมาเส็กจะมีสินทรัพย์ทั้งรูปมูลค่าหุ้นกับเงินปันผลรวมกัน 1.364 แสนล้านบาท ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับเม็ดเงินลงทุนในครั้งแรก และจุดนี้อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คิดตัดสินใจขายหุ้นSHIN ได้

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินปันผลของSHIN และ ADVANC นั้นมีจุดที่น่าสังเกตุ คือ ที่ผ่านมา ทั้งชินคอร์ปและเอไอเอส มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลคืน ผู้ถือหุ้นแบบเกิน 100% ของกำไรสุทธิ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นการผ่องถ่ายเงินคืนให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเทมาเส็ก โดยที่ประชุมบอร์ดแจ้งว่าเพราะบริษัทมีเงินสดสภาพคล่องเหลือเยอะ ขณะเดียวกันยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่จึงจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นไปเต็มที่ แต่นี่อาจจะเป็นเหตุจงใจหรือความต้องการของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเทมาเส็กมากกว่า

นอกจากนี้ แหล่งข่าวเชื่อว่า แม้คำตัดสินของศาลฯที่ออกมา จะมีผลต่อความเชื่อมั่นในการเข้าลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนต่างชาติก็ตาม แต่ทุกคนควรยอมรับ เพราะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งเพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไทยด้วย

ยกค่าปรับย้อนหลัง ความเสี่ยงสูงสุด

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า การตัดสินยึดทรัพนย์อดีตผู้นำประเทศครั้งนี้ นับว่ามีผลต่อหุ้นกลุ่มสื่อสารมาก เนื่องจากมีแนวโน้วจะถูกเรียกคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับแก้สัมปทาน อย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือ การคิดค่าปรับย้อนหลังจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน หลังการแก้ไขสัมปทานถูกพิจารณาว่าดำเนินการโดยมิชอบ และไม่ได้ผ่านมติครม. อีกทั้งช่วงที่แก้ไขเกิดขึ้นในระยะเวลาที่นาน และเป็นช่วงที่ธุรกิจกำลังเติบโตทำใหก้ค่าปรับทบต้นอาจสูงมากจนกระทบต่อความสามารถในการจ่าย โดยอาจเทียบเคียงได้กับกรณีของ บมจ.ไอทีวี (ITV) ที่ต้องกลับมาจ่ายค่าสัมปทานระดับ 1,000 ล้านบาท/ปี และถูกเรียกผลตอบแทนค้างจ่ายและค่าปรับรวม 9.4 หมื่นล้านบาท และนำไปส่อการบอกเลิกสัญญาโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)ในเวลาต่อมา ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ADVANC จะเสี่ยงต่อการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่การถูกเพิกถอนสัมปทานมองว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากจะกระทบกับผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ SHIN การขอลดสัดส่วนการลงทุนจาก 51% เหลือ 40% ในบมจ.ไทยคม (THCOM) ซึ่งถูกอ้างว่าเกิดมูลค่าความเสียหาย 20,768 ล้านบาท อาจถูกถือว่าผิดสัญญาสัมปทาน จนนำไปสู่การไต่สวนเพิกถอนสัมปทานของTHCOM อีกทั้ง THCOM เอง หลังที่ศาลฯเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 อาจส่งผลให้บริษัทต้องจัดส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปทดแทน และอาจถูกปรับสำหรับระยะเวลาที่ไม่มีดาวเทียมสำรองระหว่างปี 2540 ถึงปัจจุบัน ซึ่งยังไม่สามารถประเมินค่าปรับได้

“การยึดทรัพย์ของอดีตนายกฯ ทำให้ ADVANC และTHCOM ต้องส่งผลตอบแทนที่ได้รับจากแก้ไขสัมปทานคืนให้แก่รัฐ โดยอาจถูกปรับสัมปทานให้กลับมาใช้ในอัตราเดิม และอาจถูกคิดค่าปรับย้อนหลัง แต่ตอนนี้ผลประโยชน์ที่ต้องส่งคืนยังไม่แน่ชัด ในขณะที่การประเมินค่าปรับย้อนหลังก็ยากแก่การประเมิน อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้จะส่งผลให้มูลค่าเหมาะสมของหุ้นลดลง หรือเลวร้ายสุดคือการยกเลิกสัมปทาน”

นอกจากนี้ ความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจของ ADVANC อาจถูกลดทอนลงจากค่าใช้จ่ายที่จะต้องเพิ่มขึ้น แม้บริษัทจะมีกระแสเงินสดสูง แต่หากต้องลงทุนโครงการขนาดใหญ่อย่าง 3G การหาแหล่งเงินทุนจากด้านอื่นๆ จะมีความยากลำบากมากขึ้น หรือมีตุ้นทุนเพิ่มขึ้นเพราะมีความเสี่ยง และทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจเดียวกันไม่มีการเลื่อมล้ำมากนักเหมือนเคย แม้ DTAC และ TURE จะได้รับผลกระทบหากมีการแก้ไขสัมปทานด้วยแต่ก็ไม่มากเท่า ADVANC
กำลังโหลดความคิดเห็น