xs
xsm
sm
md
lg

“ซาเล้ง”ปรับแผนลงทุนสุวรรณภูมิ เปิดทางเอกชนบริหารสนามบินร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“โสภณ” หนุนทอท.ปรับแผนลงทุนพัฒนาสุวรรณภูมิ ชะลอเทอร์มินอลในประเทศ ดันสร้างมิดฟิลด์คองคอร์ดก่อน อ้างเพื่อความเหมาะสมกับงบประมาณและการใช้งาน ไม่เกี่ยวกับนโยบายใช้ดอนเมือง แจงเปิดทางเอกชนบริหารสนามบินร้างของบพ. ลดภาระรัฐไม่ได้เอื้อประโยชน์

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการปรับแผนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. โดยชะลอการลงทุนงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในประเทศ กับทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และลงทุนโครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (มิดฟิลด์คองคอร์ด) วงเงินประมาณ 60,741.614 ล้านบาทก่อน ว่า การปรับแผนลงทุนเพื่อให้เป็นไปตามความสามารถทางงบประมาณของทอท. และความต้องการใช้งาน โดยเชื่อว่าการชะลอลงทุนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศที่สุวรรณภูมิ จะลดข้อครหาว่าทอท. ลงทุนเพื่อรองรับเที่ยวบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

“ผมไม่มีปัญหาอะไรเรื่องที่ทอท. ปรับแผนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเชื่อว่าที่การปรับแผนไม่ได้เกิดจากจากความไม่ชัดเจนเรื่องใช้ดอนเมือง แต่ทอท.ปรับเพื่อให้เหมาะสมกับภาระงบประมาณของบริษัท และยังลดข้อครหาเรื่องที่การบินไทยย้ายเที่ยวบินในประเทศจากดอนเมืองมาสุวรรณภูมิ ทำให้ต้องเร่งทำอาคารผู้โดยสารในประเทศทันที เหมือนจะเอื้อให้การบินไทยหรือเปล่า อีกอย่างถ้าเน้นขยายสุวรรณภูมิมากไป ก็จะถูกมองว่า จะทิ้งดอนเมือง ซึ่งไม่ใช่ความจริง เพราะเรายังต้องการใช้ประโยชน์ดอนเมืองอีกมาก” นายโสภณกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2553 นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ ทอท.กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดทอท.ว่า ที่ประชุมได้เร่งให้ทอท.ประสานงานกับองค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อเร่งรัดการศึกษาใช้ประโยชน์สนามบินดอนเมือง โดยให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นภายในเดือนเม.ย. และสรุปสุดท้ายในเดือนพ.ค.2553 โดยในระหว่างข้อสรุปให้ทอท. ปรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้ชะลองานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในประเทศกับทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 ไว้ก่อน และปรับโครงการก่อสร้างมิดฟิลด์คองคอร์ด มาดำเนินการก่อน

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก่อนหน้านี้ มีวงเงินลงทุนรวม 76,504.577 ล้านบาท (2553–2559) กำหนดการลงทุนก่อสร้างงานกลุ่มอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic Terminal) วงเงิน 9,133 ล้านบาทก่อน เพื่อช่วยบรรเทาความแออัดในอาคารผู้โดยสารหลักก่อน เนื่องจากเห็นว่าใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3-4ปี ส่วน เฟส 2 ซึ่งงานหลักคือ การก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือมิดฟิลด์คองคอร์ด และงานก่อสร้างทางวิ่ง(รันเวย์) เส้นที่ 3 จะเป็นการลงทุนระยะต่อไป ซึ่งเฟส2 ยังมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในส่วนของรันเวย์ที่ 3ขณะที่การปรับลงทุนก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1ก่อน กำหนดสมมุติฐานว่า จะต้องมีการย้ายเที่ยวบินที่ไม่มีการเชื่อมต่อ (Point to Point) กลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เนื่องจาก จะต้องใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 6 ปี โดยจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี

ส่วนความคืบหน้าแนวทางในการบริหารท่าอากาศยานภูมิภาคของกรมการบินพลเรือน (บพ.) จำนวน 28 แห่งทั่วประเทศนั้น นานยโสภณกล่าวว่า การพิจารณาแนวทางการให้เอกชนเข้ามาบริหารนั้นไม่ใช่การเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาหาประโยชน์ในทรัพย์สินของประเทศ แต่เป็นการให้เอกชนเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐ เพราะที่ผ่านมารัฐต้องรับภาระค่าบำรุงรักษาสนามบินเหล่านี้ โดยไม่มีรายได้ เนื่องจากแนวทางการตั้งองค์กรมหาชน ในรูปแบบที่คล้ายกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.เข้ามาบริหารแทน กระทรวงคมนาคมเห็นว่าคงไม่เป็นผลดี เนื่องจากจะมีหน่วยงานที่ทำงานในลักษณะซ้ำซ้อนกัน ซึ่งจะต้องนำข้อเสนอของทุกฝ่าย เพื่อสรุปข้อมูลก่อนนำส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วที่สุด

“การให้เอกชนเข้ามาบริหารไม่ได้เป็นการเอื้อให้เอกชนเข้ามาหาประโยชน์จากทรัพย์สินของรัฐ แต่อยากให้เข้าใจว่าทุกวันนี้รัฐต้องรับภาระค่าบำรุงรักษาสนามบินร้างเหล่านี้ โดยไม่มีรายได้อะไรเลย การที่เอกชนเข้ามาดูแลแทนก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐไปได้” นายโสภณกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น