ปมฮั้วรถเข็นกระเป๋าสุวรรณภูมิส่อบานปลาย กลุ่มทุนการเมืองที่ได้รับสัมปทานไปแล้วเปิดโต๊ะเจรจา บริษัทสุวรรณภูมิทรอลี่ ซึ่งได้รับ License จากโรงงานเซี่ยงไฮ้ ผู้ผลิตยี่ห้อ Wanzl ตัวจริง ยกล็อตสุดท้าย 5,000 คันให้ หวังปิดปาก หวั่นร้องเปิดโปง ส่งรถเข็นก๊อปปี้โรงงานผลิตไม่มี License ให้สุวรรณภูมิ ด้านผอ.สุวรรณภูมิยันพ้น 17 ก.พ.ส่งไม่ครบ ปรับตามสัญญา
แหล่งข่าวจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดเผยว่า จากกรณีที่ นายชัยสิทธิ์ อารยะการกุศล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสุวรรณภูมิทรอลี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้ยื่นเข้าประมูลการคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอในโครงการรถเข็นกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิได้ออกมาร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประมูล ซึ่ง ทอท.ใช้วิธีพิเศษ โดยระบุว่าบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายรถเข็นกระเป๋าของ Wuhan Chuang Yuan ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โรงงงานที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งได้รับเป็นตัวแทนจำหน่ายรถเข็นกระเป๋ายี่ห้อ Wanzl แต่กลับไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการยื่นข้อเสนอ ในขณะที่ บริษัท เอพี เมนเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก จัดหารถเข็นกระเป๋าจากจีนแต่ไม่ใช่โรงงานที่ได้รับใบอนุญาต หรือ License จาก Wanzl
แหล่งข่าวกล่าวว่า นายชัยสิทธิ์ อารยะการกุศล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสุวรรณภูมิทรอลี่ จำกัด บริษัทที่ได้รับ License จากโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งได้รับ License เป็นโรงงานผลิตรถเข็นกระเป๋าให้ Wanzl อาจจะเดินหน้าในการฟ้องร้องเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากปล่อยไปอาจส่งผลกระทบทำให้ Wanzl ได้รับความเสียหายไปด้วย รวมถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็ต้องเสียชื่อไปด้วย
เนื่องจากใช้รถเข็นกระเป๋าที่เป็นรถ ก๊อปปี้ จากโรงงานจีนที่มีชื่อเสียงในการผลิตของก๊อปปี้อยู่แล้ว ล่าสุดจึงมีความพยายามในการเจรจาให้นายชัยสิทธิ์ เข้ามาร่วมจัดหารถเข็นกระเป๋าส่วนที่เหลือ เพื่อไม่ให้นายชัยสิทธิ์ ฟ้องร้อง
แหล่งข่าวกล่าวว่า สัมปทานรถเข็นกระเป๋า สุวรรณภูมิ เป็นอีกโครงการที่มีผลประโยชน์ และก่อนหน้านี้ได้มีการตกลงกันแล้วว่าอดีตรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยต้องการ แต่เมื่อ ทอท.เปิดประมูลกลับเป็นบริษัทเอพีฯ ซึ่งพบว่า บริษัทเอพีฯ เพิ่งก่อตั้งเมื่อก.พ. 2552 และเป็นที่ทราบกันในกลุ่มเอกชนที่เข้าไปดำเนินงานกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่ามีกลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่นเป็นนายทุน
“เพิ่งมีการเจรจากันระหว่างกลุ่มสามารถฯ กับนายชัยสิทธิ์เพื่อไม่ให้นายชัยสิทธิ์ ออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ โดยนักคุยกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว โดยเสนอให้นายชัยสิทธิ์ เป็นผู้จัดหารถเข็นกระเป๋าส่วนที่เหลือไป ซึ่งไม่น่ามีปัญหา เพราะโรงงานที่เซี่ยงไฮ้มีของพร้อมส่งอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเพิ่งมีการเจรจาและการจัดส่งอาจต้องใช้เวลา จึงน่าจับตามองว่า ในวันที่ 17 ก.พ. 2553 ซึ่งครบกำหนดที่ บริษัท เอพีฯ ต้องส่งมอบรถเข็นกระเป๋าให้ครบ 100% นั้นจะทันหรือไม่”แหล่งข่าวกล่าว
นายนิรันดร์ ธีรนาทสิน ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท.กล่าวว่า ตามสัญญา บริษัท เอพีฯ จะต้อง ส่งมอบรถเข็นกระเป๋าทั้ง 9,034 คันภายในวันที่ 17 ก.พ. 2553 ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการส่งมอบให้แล้ว 3,000 คัน และได้ผ่านการตรวจสอบการใช้งานเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดโดยได้นำมาใช้ให้บริการผู้โดยสารช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นช่วงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารค่อนข้างมากเฉลี่ยประมาณ 140,000 คนต่อวัน อย่างไรก็ตามหากพ้นวันที่ 17 ก.พ.แล้ว บริษัทเอพีฯ ไม่สามารถส่งมอบรถเข็นกระเป๋าได้รับ จะต้องถูกปรับตามสัญญา 2,000 บาทต่อคันต่อวัน
ด้านเรืออากาศโท ณรงค์ชัย ถนัดช่างแสง รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างสัญญาสัมปทานรถเข็นกระเป๋ากล่าวว่า จากการตรวจสอบรถเข็นกระเป๋าที่ บริษัทเอพีฯ จัดหานั้น ประกอบที่โรงงานในเซี่ยงไฮ้ โดยนำเข้าวัตถุดิบจากเยอรมันและโรงงานที่ประกอบได้รับการรับรอง ISO อย่างถูกต้อง ขณะนี้ได้รับมอบรถเข็นกระเป๋าเพิ่มอีก 1,000 คัน รวมกับที่ได้รับมอบก่อนหน้านี้ 3,000 คัน เป็น 4,000 คันแล้ว
“ตอนนี้สุวรรณภูมิมีรถเข็นกระเป๋าใหม่แล้ว 4,000 คัน ส่วนอีก 5,000 คันที่เหลือ คาดว่าบริษัท เอพีฯ จะส่งมอบได้ตามสัญญา เพราะขณะนี้ ยังไม่แจ้งว่ามีปัญหาขอเลื่อนการส่งมอบแต่อย่างใด และตั้งแต่เมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) ที่ผ่านมา ได้เก็บรถเข็นกระเป๋าเก่าที่ยืมมาจากท่าอากาศยานอื่นๆ ของ ทอท.ใช้ชั่วคราวออกจากพื้นที่แล้ว”
สำหรับสัมปทานให้บริการรถเข็นกระเป๋า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 566,244,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลา 7 ปี จำนวน 9,034 คัน ประกอบด้วยรถเข็นกระเป๋าขนาดเล็ก 2,000 คัน ขนาดกลาง 7,000 คัน และขนาดใหญ่ 34 คัน