นโยบายการเงิน ธปท.เดินถึงทางสองแพร่ง "อัจนา" เผย กนง.กำลังชั่งน้ำหนักความเสี่ยง นโยบายผ่อนคลายต่อไปหรือต้องปรับเปลี่ยน เพราะการใช้ดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป ก็จะเสี่ยงต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อ แต่ถ้ายกเลิกเร็วเกินไป ก็เสี่ยงต่อ ศก.ที่ฟื้นตัวแบบเปราะบาง แนะจับตาผลประชุม 10 มี.ค.ชี้ชะตา ส่วนปัญหาหนี้เสียในยุโรป "โปรตุเกส-อิตาลี กรีซ-สเปน" มีผลต่อ ศก.โลกแค่ 20% แต่ต้องจับตาโรคระบาดในการปล่อยกู้กันเอง
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)อยู่ระหว่างชั่งน้ำหนักว่าการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป กับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินเร็วกว่าที่คาดไว้ อย่างไหนจะมีความเสี่ยงมากกว่ากัน เพราะการใช้ดอกเบี้ยต่ำนานเกินไปจะมีความเสี่ยง คือ การเร่งตัวของเงินเฟ้อ แต่ถ้ายกเลิกเร็วเกินไปก็อาจจะเกิดความเสี่ยง เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่มากพอ แต่ขณะนี้ กนง.ก็ยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก
ส่วนกรณีปัญหาหนี้สินของกรีซนั้น นางอัจนา กล่าวว่า คงไม่ได้มีผลอะไรกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากกลุ่มประเทศโปรตุเกส อิตาลี กรีซ และสเปน (PIGS) มีอัตราส่วนเศรษฐกิจต่อเศรษฐกิจของโลกแค่ 20% เท่านั้น
อย่างไรก็ดี กนง.ไม่ได้นิ่งนอนใจ การประชุมครั้งล่าสุดได้นำปัจจัยเหล่านี้เข้าพิจารณาในการจัดทำนโยบายการเงินด้วย แต่ว่าต้องติดตามดูอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุม กนง.ครั้งต่อไป (10 มีนาคม 2553) ก็จะนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง
นางอัจนา กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ กลัวว่าจะเกิดโรคติดต่อ ซึ่งเกิดจากการปล่อยกู้กันเองระหว่างสถาบันการเงินในยุโรป ซึ่งอาจจะทำให้เกิดฐานะแย่ตามๆ กันไป ซึ่งยังต้องติดตามดูว่า ตรงนี้จะเกิดผลอะไรต่อเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป และสหรัฐฯ เพราะอาจกระทบกับต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้น