สศก.แจงผลสำรวจผลผลิตสินค้าเกษตร "กระเทียม-หอมแดง-หอมใหญ่-มันฝรั่ง" ช่วงต้นปี 53 มีทิศทางราคาดีขึ้น
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดของสินค้ากระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ณ เดือนมกราคม 2553 พบว่า ในส่วนของกระเทียม คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 72,689 ตัน โดยเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตขายออกสู่ตลาดบ้างแล้วประมาณร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะทยอยเก็บออกสู่ตลาดในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2553 นี้
ราคากระเทียมสดที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนมกราคม 2553 อยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 13-20 บาท ถือว่าเป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี เพราะปีที่ผ่านมาพันธุ์กระเทียมมีราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 65 บาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วที่ราคากิโลกรัมละ 25 บาท หรือสูงกว่าร้อยละ 160 ทำให้เกษตรกรมีเงินทุนจำกัดในการลงทุนปลูกกระเทียม จึงเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทนที่มีต้นทุนในการเพาะปลูกน้อยกว่า ประกอบกับราคากระเทียมนำเข้ามีราคาแพง คาดว่าราคากระเทียมที่จะออกสู่ตลาดจะยังคงมีราคาสูงอยู่
ส่วนหอมหัวใหญ่ คาดว่าจะมีผลผลิต 45,994 ตัน สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 2 ขณะนี้ผลผลิตขายออกสู่ตลาดประมาณ ร้อยละ 25 ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดเชียงราย กาญจนบุรี และเชียงใหม่ โดยเฉพาะอำเภอแม่วาง และสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเกษตรกรที่มีผลผลิตสามารถขายผลผลิตออกสู่ตลาดให้กับพ่อค้าคนกลางไปหมดแล้ว โดยขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10 – 11 บาท ส่วนที่เหลือจะทะยอยเก็บเกี่ยวขายออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม 2553 นี้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อากาศเปลี่ยนแปลงทำให้หอมหัวใหญ่เกิดโรค ทำให้ผลผลิตมีแนวโน้มลดลง คาดว่าราคาในปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน
ด้านนางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมันฝรั่ง ผลผลิตมันฝรั่งโรงงานปีนี้ มีผลผลิต 129,490 ตัน สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 13 บริษัทได้มีการทำสัญญาซื้ผลผลิตจากเกษตรกรที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 – 10.50 บาท ราคาประกันรับซื้อจากเกษตรกรสูงกว่าราคาขั้นต่ำ ซึ่งกำหนดไว้กิโลกรัมละ 8.90 บาท
ส่วนมันฝรั่งพันธุ์บริโภคมีผลผลิต 12,127 ตัน สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 4 ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีน้อยกว่าร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด โดยราคามันฝรั่งพันธุ์บริโภคที่เกษตรกรขายได้คาดว่าจะอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 10 – 12 บาท และไม่น่าจะเกิดปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ
โดยในส่วนของหอมแดง คาดว่าในปีนี้จะมีผลผลิต 209,909 ตัน สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 4 เกษตรกรขายผลผลิตออกสู่ตลาดไปแล้วประมาณร้อยละ 25 ของผลผลิตทั้งหมด โดยในขณะนี้ราคาหอมแดงค่อนข้างต่ำและยังไม่ขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากตลาดส่งออกหอมแดงของไทยโดยเฉพาะอินโดนีเซีย มีประเทศคู่แข่งขันที่สำคัญได้แก่ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่งออกหอมแดงไปขายในราคาที่ถูกว่า ทำให้กดราคาส่งออกหอมแดงของไทย
อย่างไรก็ตาม กรมได้รับทราบจากพ่อค้าส่งออกว่า หอมแดงของอินโดนีเซียเริ่มหมดแล้ว น่าจะมีคำสั่งซื้อหอมแดงมายังประเทศไทย เป็นผลให้หอมแดงจะเริ่มมีการส่งออกไปยังมาเลเซีย อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ได้บ้าง โดยราคาหอมแดง จังหวัดศรีสะเกษ ราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 9.00 บาท แต่เกษตรกรเห็นว่าราคายังค่อนข้างต่ำ
ดังนั้น จังหวัดศรีสะเกษจึงทำหนังสือมายังภาครัฐเพื่อของบประมาณสนับสนุนช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในการประชุม คชก. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติเงินทุนหมุมเวียนปลอดดอกเบี้ยให้จังหวัดศรีสะเกษจำนวน 80 ล้านบาทให้กระทรวงมหาดไทยนำไปจัดสรรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อยืมไปรับซื้อหอมแดงจากเกษตรกรในราคานำตลาด เมื่อราคาต่ำกว่าราคาเป้าหมายนำ ทั้งนี้ ได้กำหนดราคาเป้าหมายนำกิโลกรัมละ 11.90 บาท