คลังเตรียมรื้อ กม.กรมศุล คาดชงเข้า ครม.อังคารนี้ เล็งแก้ไขค่าปรับใหม่เป็น 0-4 เท่าของราคาสินค้าบวกอากร เพื่อการวินิจฉัยโทษที่ชัดเจนขึ้น ทั้งการหลีกเลี่ยง-การลักลอบ พร้อมปรับระบบเงินรางวัลของ จนท. โดยกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 4 ล้านบาท ซึ่งเดิมเคยได้ 25% ของเงินค่าปรับ โดยส่วนเกิน 4 ล้านจะนำเข้าเป็นเงินกองกลาง พร้อมปรับรายละเอียดสินบนนำจับ ป้องกันเรียกรับผลประโยชน์ หลังได้รับการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก
มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 (พรุ่งนี้) กระทรวงการคลังจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายของกรมศุลกากรให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติ โดยสาระสำคัญ จะเป็นการแก้ไขเรื่องค่าปรับจากเดิมกำหนดตายตัวที่ 4 เท่าของราคาสินค้าบวกอากร แก้ไขเป็นปรับตั้งแต่ 0-4 เท่า ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
ทั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้เสียภาษีตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการศาลได้มากขึ้น หากไม่ยอมรับการวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีของกรมศุลกากร รวมทั้งการวินิจฉัยจะคำนึงถึงเจตนามากขึ้น โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือลักลอบขนสินค้าหนีภาษี ซึ่งทั้ง 2 กรณี จะมีบทลงโทษจะต่างกัน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังจะเสนอ ครม.เห็นชอบแต่งตั้งนายวิศาล วุฒิศักดิ์ศิลป์ รองอธิบดีกรมศุลกากร ขึ้นเป็นที่ปรึกษาระดับ 10 ของ กรมศุลกากร รวมถึงแต่งตั้งนายอัษฎางค์ ศรีศุภรพันธ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ขึ้นเป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรอีกด้วย
นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เข้ารายงานรายละเอียดการแก้ไขกฎหมายให้ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบ โดยหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คาดว่าจะมีการเสนอเข้า ครม. ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 นี้ และหาก ครม.เห็นชอบ ก็จะต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาอนุมัติกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับการแก้ไขกฎหมายศุลกากรครั้งนี้ นอกจากแก้ไขประเด็นเรื่องค่าปรับแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ได้แก่ การปรับระบบเงินรางวัลของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร โดยกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ไม่เกิน 4 ล้านบาท(จากเดิมที่เจ้าหน้าที่จะได้รับเต็มจำนวนจาก 25% ของเงินค่าปรับ) ส่วนรางวัลนำจับส่วนที่เกินจาก 4 ล้านบาท จะนำเข้าเป็นเงินกองกลางของกรม
ส่วนเรื่องสินบนนำจับจากการแจ้งแบะแสจะไม่มีการแก้ไข เพราะถือว่ามีความสำคัญทำให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบเบาะแสการลักลอบหนีภาษี และสินบนนำจับเป็นการให้กับบุคคลภายนอกไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร
ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนร้องเรียนกันมากว่า กรมศุลกากร มักทำตัวเป็น ศาลเตี้ย และพยายามเรียกร้องให้มีการแก้ไขเรื่องการจ่ายรางวัลเจ้าหน้าที่ และสินบนนำจับ เพราะเกรงว่าอาจถูกใช้เป็นช่องทางการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากส่วนแบ่งที่เจ้าหน้าที่จะได้รับมีสัดส่วนสูงมาก กล่าวคือ จะมีการจ่ายสินบนนำจับให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ 30% ของเงินค่าปรับ และรางวัลนำจับให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีก 25% แต่กรณีไม่มีผู้แจ้งความนำจับ จะจ่ายรางวัล 30%