xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลสำรวจเอกฉันท์ "นลท.ญี่ปุ่น" ยังยึดไทยเป็นฐานการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หอการค้าญี่ปุ่น แถลงผลสำรวจนักลงทุน 395 ราย โดยกลุ่มตัวอย่าง 48% ยังคงยึดไทยเป็นฐานการลงทุนทางธุรกิจ ส่วนอีก 44% ต้องการลงทุนเพิ่ม มีเพียง 1% ที่ต้องการย้ายฐานลงทุน พร้อมมอง ศก.ไทยเริ่มฟื้นตัว แม้จะยังไม่ดีเท่าปี 50 โดยมุ่งมั่นเชื่อมตลาดในกลุ่มอาเซียนและอินเดีย ตามลำดับ

นายมุเนโนริ ยามาดะ ประธานคณะกรรมการวิจัยทางเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) แถลงผลสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยระบุว่า ผลจากการสำรวจนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวน 395 บริษัท ส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ดีเหมือนปี 2550 โดยทุกอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แต่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ขณะที่การลงทุนโรงงานเครื่องจักรในปี 2552-2553 เป็นการซื้อเครื่องจักรใหม่ มาเปลี่ยนเครื่องจักรเดิมให้มากที่สุด และจะมีการใช้เครื่องจักรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มองตรงกันว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน โดยจากการสำรวจพบว่านักลงทุนญี่ปุ่น 48% หรือจำนวน 177 บริษัท จะขยายธุรกิจในประเทศไทย โดยไม่มีการย้ายฐานของธุรกิจ ส่วนที่เหลืออีก 44% หรือจำนวน 162 บริษัท จะขยายธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น โดยเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาธุรกิจของญี่ปุ่นในต่างประเทศ แต่จะเปลี่ยนการส่งออกไปยังอินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยในปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น

สำหรับผลกระทบจากปัญหามาบตาพุด นักลงทุนก็กังวลถึงผลกระทบทางตรงในหลายอุตสาหกรรม เช่น เคมี ก่อสร้าง งานวิศวกรรม เหล็ก และพบว่า มีเพียง 4 บริษัท หรือคิดเป็น 1% ที่อาจทบทวนแผนการลงทุน ส่วนแนวโน้มการส่งออก กลุ่มตัวอย่าง 51% มีความเชื่อว่า จะปรับดีขึ้นในครึ่งปีแรกของปีนี้ แต่ยังไม่ฟื้นกลับไปถึงระดับเดิมในปี 2550

โดยตลาดส่งออกที่มีลู่ทางสดใส คือ ประเทศอินเดีย รองลงมา ได้แก่ ตลาดอาเซียน ไม่รวมเวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการกำหนดแผนธุรกิจ ส่วนใหญ่ใช้เงินบาทที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังเสนอให้รัฐบาลไทยเร่งพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทางด้านศุลกากร พัฒนาระบบภาษี พัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งพัฒนาเชื่อมโยงระบบสาธารณูโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

โดยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 นี้ JCC และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ได้จัดสัมมนาโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากญี่ปุ่นมาให้ข้อมูลเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น