xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.คลายเกณฑ์ขนเงินลงทุนนอก เตรียมพร้อมรับมือตลาดเงินป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.แถลงมาตรการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การให้นำเงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะรุนแรงในปีนี้ โดยเปิดช่องให้นิติบุคคลขนเงินออกไปได้แบบไม่จำกัด พร้อมขยายเพดานลงทุนหลักทรัพย์ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเงินลงทุนอสังหาฯ เพิ่มเป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นายแบงก์ออกโรงหนุน เชื่อเป็นมาตรการแก้บาทแข็งระยะสั้น คาดไม่กระทบสภาพคล่องในระบบ

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดแถลงข่าวมาตรการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การให้นำเงินทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศ และการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของผู้นำเข้า-ส่งออก รวมถึงการประกอบธุรกิจศูนย์บริการเงิน เพื่อรับมือกับคาดการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายในปีนี้ที่คาดว่าจะมีความผันผวนมากขึ้น พร้อมเชื่อว่าจะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทด้วย

โดยในการแถลงข่าว รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ระบุว่า ธปท.อนุญาตให้ยกเลิกธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกรณีค่าสินค้าและบริการ และการขยายวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่อนุมัติให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดสรรเอาไว้ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ส่วนการผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติมในเรื่องการลงทุนในต่างประเทศ และการประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงิน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2553

นายบัณฑิต กล่าวว่า ตามที่ ธปท. ได้ผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 ให้บุคคลและนิติบุคคลไทยลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ และลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทย โดยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมาได้ผ่อนคลายให้ผู้นำเข้าส่งออกบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น

ดังนั้น ธปท.จึงเห็นสมควรผ่อนคลายระเบียบต่างๆ ได้แก่ 1. การลงทุนในต่างประเทศ ขยายวงเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศโดยให้นิติบุคคลสามารถลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวน และขยายวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศจากที่เคยอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดสรร 30,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ เพิ่มเป็น 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสมดุล ของเงินทุนเคลื่อนย้าย และช่วยเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้ภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดา รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจไทย

โดยสิ้นปี 2552 ยอดคงค้างการนำเงินไปลงทุนในหลักกทรัพย์ต่างประเทศที่ผ่านการอนุมัติของ ก.ล.ต.อยู่ที่ 20,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 61.74% จากปี 2551 ที่มีวงเงิน 12,730 ล้านดอลล์สหรัฐฯ ขณะที่ปี 2552 มียอดเงินไหลออกไปลงทุนสุทธิ 23,475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ 18,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการลงทุนโดยตรง 5,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

2. การทำธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง ผ่อนผันให้ผู้นำเข้าส่งออกสามารถยกเลิกธุรกรรมอนุพันธ์ที่ทำขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนค่าสินค้าและบริการได้ทุกกรณี ซึ่งการผ่อนคลายดังกล่าวเพื่อให้ผู้นำเข้าส่งออกมีความคล่องตัวในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีวามสามารถในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดเงินตราต่างประเทศให้สามารถสะท้อนปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานของเงินตราต่างประเทศมากขึ้น

3. การประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ผ่อนคลายคุณสมบัติของผู้ขอจัดตั้งศูนย์บริหารเงินและหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงินเพื่อบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้แก่บริษัทในเครือ เช่น อนุญาตให้ใช้นิติบุคคลเดิมประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงินได้ โดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทใหม่ อนุญาตให้ศูนย์บริหารเงินสามารถโอนเงินตราต่างประเทศกับบริษัทในเครือในประเทศไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศได้ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทข้ามชาติที่มีฐานการผลิตในไทยย้ายการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศเข้ามาอยู่ใน ประเทศไทย และสนับสนุนให้ใช้ประเทศไทยเป็น Regional Operating Headquarter ตามนโยบายภาครัฐ นอกจากนี้ ยังช่วยให้มีการพัฒนาบุคคลากรด้านการบริหารเงินด้วย

4. การผ่อนคลายระเบียบอื่นๆ ขยายวงเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศจาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอนุญาตให้บริษัทในไทยให้กู้แก่บริษัทในต่างประเทศที่ไม่ใช่บริษัทในเครือได้ไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ต้องขออนุญาตเป็นรายกรณี รวมทั้งขยายวงเงินในการนำเงินบาทแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศด้วย

ทั้งนี้ การอนุญาตให้ยกเลิกธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกรณีค่าสินค้าและบริการ และการขยายวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่อนุมัติให้ กลต.จัดสรร ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 สำหรับมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ ตามที่กล่าวข้างต้น กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันแล้ว โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาออกประกาศกระทรวงการคลัง และคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2553

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายปีนี้จะมีความผันผวนมากขึ้น ธปท.จึงให้ผู้ส่งออก-ผู้นำเข้าสามารถยกเลิกทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่ต้องมีธุรกรรมรองรับ และให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ดูแลตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้เพราะกลัวการเก็งกำไร แต่ขณะนี้คาดการณ์ค่าเงินบาทได้ยาก

**นายแบงก์หนุนแก้บาทแข็ง-ไม่กระทบสภาพคล่อง

นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กล่าวถึงมาตรการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ปริวรรตเงินตราของ ธปท. โดยระบุว่า เป็นมาตรการที่ช่วยทำให้เงินไหลออกไปลงทุนได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเปิดช่องทางเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน

"มาตรการดังกล่าว คงช่วยชะลอการแข็งตัวของค่าเงินบาทได้บ้าง แต่คงไม่มาก เนื่องจากขณะนี้ สภาพคล่องสถาบันการเงิน ขยายตัวได้สูง ซึ่งท้ายสุดแล้ว แบงก์ชาติก็ต้องมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาเสริมเพิ่มเติม ไม่เช่นนั้นผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรคงจะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน"
กำลังโหลดความคิดเห็น