xs
xsm
sm
md
lg

ไล่ลงทุนตปท. ธปท.สกัดช่องว่างเก็งกำไร-บาทแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผ่อนคลายมาตรการลงทุนนอกอ้าซ่า ธปท.เลิกคุมวงเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ยกเลิกสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าได้ หวังสกัดการเก็งกำไรค่าบาท รับมือเงินทุนไหลเข้าผันผวน เผยหากมีการผ่อนคลายเพิ่มเติมจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้ ศูนย์วิจัยกสิกรชี้สร้างสมดุลในระยะยาว

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงมาตรการผ่อนคลายระเบียบควบคุมแลกเปลี่ยนเงินตราเพิ่มเติม 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.อนุญาตให้นิติบุคคลหรือบริษัททั่วไปของคนไทยสามารถลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ รวมถึงให้กู้ยืมแก่บริษัทแม่หรือกิจการในเครือในต่างประเทศได้ไม่จำกัดวงเงิน จากเดิมที่กำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ลงทุนไม่จำกัดจำนวน และให้กู้ยืมไม่เกิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์การลงทุนหรือการกู้ยืมไม่เกิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันธุรกิจไทย และลดความแตกต่างระหว่างบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์

"ขณะนี้มองว่าเสถียรภาพในต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ จึงคาดว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นในปีนี้ทำให้ ธปท.ต้องออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้บุคคลธรรมดาและภาคธุรกิจมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการธุรกิจ เพิ่มโอกาสและทางเลือกใหม่ๆ"

ธปท.ได้ขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ไปจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนเป็น 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมให้ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.52 มียอดคงค้างการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศไปแล้ว 20,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันเพิ่มขึ้น 61.74%

2.อนุญาตให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสามารถยกเลิกธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนค่าสินค้าและบริการได้ทุกกรณี จากเดิมกำหนดให้ต้องมีเหตุผลจำเป็นในจำนวนเกิน 20,000 เหรียญสหรัฐ แต่ถ้าไม่มีเหตุผลจำเป็นต้องขออนุญาต ธปท.เป็นรายกรณี เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดเงินตราต่างประเทศให้สามารถสะท้อนปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานเงินตราต่างประเทศมากขึ้น

“ธปท.ไม่ห่วงว่าจะมีการเก็งกำไรค่าเงินบาทเกิดขึ้น เพราะผู้ส่งออก-ผู้นำเข้าสามารถยกเลิกทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่ต้องมีธุรกรรมรองรับ ขณะเดียวกันแบงก์พาณิชย์ที่ให้บริการก็จะมีการตรวจสอบที่ดี ขณะเดียวกันในปีนี้ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายปีนี้จะมีความผันผวนมากขึ้น ทำให้คาดการณ์เงินบาทได้ยาก”รองผู้ว่าการธปท.กล่าว

3.ในการประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงินเพื่อบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้แก่บริษัทในเครือ โดยอนุญาตให้ใช้นิติบุคคลเดิมประกอบธุรกิจบริหารเงินได้ โดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทใหม่ อนุญาตให้ศูนย์บริหารเงินสามารถโอนเงินตราต่างประเทศกับบริษัทในเครือในไทยได้ จากเดิมกำหนดเงินบาทเท่านั้น และผ่อนคลายคุณสมบัติของผู้ขอจัดตั้งศูนย์บริหารเงินให้มีบริษัทในเครือที่จดทะเบียนในไทยและต่างประเทศอย่างละ 2 บริษัท จากเดิมที่กำหนดให้มีเฉพาะบริษัทในเครือ 3 บริษัทที่จดทะเบียนในไทย เวียดนาม และประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับไทย เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถจัดการเงินตราต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนให้บริษัทข้ามชาติที่มีฐานผลิตในไทยย้ายการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศเข้ามาอยู่ในไทย และสนับสนุนให้ใช้ไทยเป็น Regional Operating Headquarter ตามนโยบายภาครัฐ รวมถึงช่วยพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารเงินด้วย

นอกจากนี้ ธปท.ยังขยายวงเงินให้สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศเป็น 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากเดิม 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนการให้กู้ยืมแก่บริษัทในต่างประเทศที่ไม่ใช่บริษัทในเครือที่ไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีไม่ต้องขออนุญาตเป็นรายกรณี จากเดิมทุกรณีต้องอนุญาต ขณะเดียวกันเพิ่มยอดคงค้างในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศเป็น 500,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา จากเดิมที่กำหนดให้บัญชีเงินตราต่างประเทศประเภทแหล่งในประเทศแบบไม่ต้องแสดงภาระผูกพันฝากได้ไม่เกิน 300,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา 100,000 เหรียญสหรัฐ

สำหรับการอนุญาตให้ยกเลิกธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกรณีค่าสินค้าและบริการ รวมถึงเรื่องการขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่อนุมัติให้ก.ล.ต.จัดสรรจะมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.นี้เป็นต้นไป สำหรับการผ่อนคลายเรื่องอื่นๆ ที่เหลืออยู่ระหว่างรอกระทรวงการคลังออกประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นเดือน ก.พ.นี้

“ถ้าจะมีการเปิดเสรีการผ่อนคลายเพิ่มเติมในอนาคต แบงก์ชาติจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้และสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ”รองผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

***ศูนย์กสิกรฯชี้ช่วยสร้างสมดุล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวถึงการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะการดูแลเงินทุนไหลออก เพื่อรับมือความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายว่า จะเป็นผลดีต่อภาคเอกชนในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพิ่มโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศแล้วแล้วยังเป็นกลไกที่อาจช่วยสร้างสมดุลคอยบรรเทาผลกระทบที่ค่าเงินอาจได้รับในยามที่มีกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ทิศทางค่าเงินบาทช่วงนี้ คาดว่าจะยังคงถูกกำหนดโดยการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ เป็นหลัก โดยหากเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาฐานะการคลังและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซน หรือการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของทางการจีนแล้ว คาดว่าเงินบาทอาจยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นไปตามกระแสของค่าเงินในภูมิภาค ตลอดจนการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลก

***บาทปิดอ่อนค่าที่ 33.20
เงินบาทปิดตลาดเย็นวานนี้ (1 ก.พ.) ที่ระดับ 33.18/20 บาทต่อดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 33.17/19 บาทต่อดอลลาร์ โดยระหว่างวันปรับตัวอ่อนค่าสุดที่ระดับ 33.23/26 เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าหลังตัวเลขจีดีพีของสหรัฐออกมาค่อนข้างดี และเกิดความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป

ด้านนักบริหารเงินคาดการณ์ วันนี้ (2 ก.พ.) เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าได้อีกเล้กน้อย โดยจะเคลื่อนไหวระหว่าง 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น