รมว.คลัง สั่งแบงก์ออมสิน ศึกษาแนวทางนำเครื่องจำหน่าย "หวยออนไลน์" ไปปรับใช้ในการจำหน่ายสลากออมสิน พร้อมมอบนโยบายปล่อยกู้ "รากหญ้า" แก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดการกู้หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยมหาโหด เตรียมขอไลเซ่น ก.ล.ต.จำหน่ายพันธบัตรไทยเข้มแข็ง "เลอศักดิ์" เตรียมปรับระบบซอฟต์แวร์สลากออมสิน
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหวยออนไลน์ ภายหลังมอบนโยบายคณะกรรมการธนาคารออมสิน โดยระบุว่า ตนเองได้มอบหมายให้ผู้บริหารของธนาคารออมสินไปศึกษาการนำเครื่องจำหน่ายหวยออนไลน์ของบริษัท ล็อคซเล่ย์ จีเท็จ เทคโนโลยี จำกัด (LGT) เพื่อนำมาปรับใช้ในการจำหน่ายสลากออมสิน เพราะรัฐบาลต้องการบริหารสัญญาของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกับภาคเอกชน เนื่องจากไม่ต้องการทำผิดสัญญาแล้วมีการฟ้องร้อง แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการดำเนินการหวยออนไลน์
"สัญญาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำเครื่องไปปรับใช้ในการบริการรูปแบบอื่น ซึ่งการจำหน่ายสลากออมสินก็เป็นทางเลือกหนึ่งจากหลายทางเลือกที่รัฐบาลกำลังศึกษา รวมถึงการใช้เครื่องออกสลากแบบออนไลน์ดังกล่าว นำไปปรับใช้จำหน่ายสลากกินแบ่งของสำนักงานสลากฯ เพื่อดูว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่"
ทั้งนี้ รมว.คลัง ยอมรับว่า ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินไปศึกษาแนวทางว่าจะสามารถนำเครื่องออกหวยออนไลน์ ปรับเปลี่ยนซอฟแวร์ให้เชื่อมโยงโดยสามารถจำหน่ายสลากออมสินได้หรือไม่ ส่วนเรื่องระยะเวลาคงจะใกล้เคียงกับคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยกเลิกหวยออนไลน์ ที่มีนายเกียรติ สิทธีอมร เป็นประธาน ซึ่งจะใช้ศึกษา 30 วัน
"ผมยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่ฉีกสัญญากับภาคเอกชน แต่จะหาช่องทางเพื่อนำเครื่องจำหน่ายสลากปรับเปลี่ยนไปใช้รูปแบบอื่นๆ อาทิ การจำหน่ายสลากออมสิน ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้บริหารไปศึกษาแล้ว"
ส่วนความคืบหน้ากรณีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รมว.คลัง ระบุว่า ตนเองได้มอบนโยบายแก่คณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารออมสิน ให้มีบทบาทสำคัญในการร่วมกับกระทรวงการคลัง ช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะยังมีประชาชนรายย่อย 15-20% ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
ทั้งนี้ ต้องการให้ธนาคารออมสินเดินหน้าช่วยเหลือแก้ไขหนี้นอกระบบ หลังจากธนาคารออมสินร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงทะเบียนหนี้นอกระบบได้เกือบ 1 ล้านราย เพื่อไม่ให้ประชาชนรายย่อยกลับไปพึ่งพาหนี้นอกระบบด้วยต้นทุนภาระดอกเบี้ยสูง
นอกจากนี้ ยังต้องการให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องเพียงพอในการฟื้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในปี 2553 กระทรวงการคลังยังยืนยันว่า จะคงมาตรการการปล่อยสินเชื่อ เร่งด่วนหรือสินเชื่อ Fast Track เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนขณะนี้เป้าสินเชื่อจะเป็นเท่าใดจะต้องหารือกับนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก่อน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังต้องการให้ธนาคารออมสินร่วมจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งให้กับประชาชนรายย่อย หลังจากกระทรวงการคลังมีแผนจำหน่ายไตรมาสแรกปี 2553 วงเงินประมาณ 50,000-80,000 ล้านบาท และยังต้องการคงมาตรการสินเชื่อฟาสแทร็ค เพื่อให้ธนาคารของรัฐดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนแม้จะครบกำหนดให้บริการสิ้นปี 2552 เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
"แบงก์ออมสิน มีประเพณีที่สร้างวัฒนธรรมการออม ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงมีแนวคิดที่จะให้ธนาคารออมสินเป็นตัวแทนจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ล็อตที่ 2 วงเงิน ประมาณ 5-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่า ธนาคารจะสามารถกระจายพันธบัตรไปสู่ประชาชนรายย่อย ได้มากขึ้น เพราะวัตถุประสงค็ของรัฐบาลต้องการให้ประชาชนสร้างการออมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคต"
นอกจากนี้ ผลงานในการขายพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตแรกที่ผ่านมาธนาคารออมสินยังติดเรื่องใบอนุญาตการจำหน่ายพันธบัตร ซึ่งได้ให้ธนาคารออมสินไปศึกษาเพื่อเข้าร่วมจำหน่ายพันธบัตรครั้งนี้ ร่วมกับธนาคารอื่นๆ ด้วย
ด้านนายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การนำตู้จำหน่ายสลากอัตโนมัติมาปรับใช้พิมพ์สลากออมสินนั้น คงต้องศึกษาดูว่าเครื่องดังกล่าวจะสามารถปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ให้เข้ากับระบบของธนาคารได้หรือไม่ เพราะการซื้อสลากออมสิน ถือเป็นการบันทึกบัญชีในรูปแบบเงินฝากจากผู้ซื้อ เพื่อลงบันทึกชื่อ เพศ อายุ ที่อยู่อาศัย และข้อมูลต่างๆ จึงต้องดูว่าจะสามารถนำมาพัฒนาปรับใช้อย่างไรบ้าง โดยในเรื่องนี้จะเร่งศึกษาให้ได้ข้อสรุป ภายใน 30 วัน
"ธนาคารกำลังเตรียมศึกษาเกี่ยวกับซอฟท์แวร์การจำหน่ายสลากออมสินด้วยเครื่องจำหน่ายสลากเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัวด้วยเครื่องอัตโนมัติหรือหวยออนไลน์ ว่าจะสามารถเชื่อมโยงกับ Call Banking ของธนาคารได้หรือไม่ คงจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง"
ส่วนการปล่อยสินเชื่อปี 2553 ธนาคารคงเน้นรายย่อยสัดส่วน 85% และขณะนี้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมียอดสินเชื่อคงค้าง 780,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อปีที่ผ่านมาเติบเพิ่มขึ้นถึง 30% นับว่าปรับตัวสูงมาก ส่วนในปี 2553 ต้องการให้เพิ่มขึ้นประมาณ 10%
สำหรับแนวทางปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี สามารถทำได้ เพราะมีสภาพคล่องจำนวนมาก หากผู้ประกอบการไปขอสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) วงเงินสูงเกินเพดานก็อาจมาขอสินเชื่อกับธนาคารออมสินได้ เพราะปัจจุบันระดมทุนจากการจำหน่ายสลากออมสินได้แล้วประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท จึงเพียงพอที่จะปล่อยสินเชื่อ
นอกจากนี้ ธนาคารยังพร้อมเป็นตัวแทนจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง โดยเตรียมยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อได้ทั่วถึง