xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเข้มแข็ง-การใช้จ่ายเอกชน หนุน ศก.ปี 53 ขยายตัว 3.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังปรับประมาณการณ์จีดีพีปี 52ใหม่ ติดลบลดลงจาก 3% เหลือ 2.8% หลังเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจทุกตัวพลิกกลับมาดีเกินคาด ทั้งส่งออก ท่องเที่ยว ว่างงาน การใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ เชื่อส่งผลดีต่อเนื่องปีหน้าเพิ่มเป้าขยายตัวใหม่จาก 3.3% มาอยู่ที่ 3.5% ยอมรับผวาปัจจัยเสี่ยงการเมือง

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2552 ว่า จากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจด้านต่างๆ ล้วนปรับตัวดีอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมาทั้งการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวก การใช้จ่ายในประเทศที่เริ่มดีขึ้น การว่างานที่ลดลงทำให้กระทรวงการคลังปรับประมาณการณ์ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหม่ ดีขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ติดลบ 3% มาอยู่ที่ ลบ 2.8% เนื่องจากได้อานิสงส์มาจาการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และจากการลงทุนที่ปรับดีขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่พลิกกลับมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยนักท่องเที่ยวน่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 14.1 ล้านคนหรือหากลดลงก็ไม่เกิน 3%

ทั้งนี้ จากการที่จีดีพีไตรมาส 4 ปีนี้ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกไม่ต่ำกว่า 3% ถือเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังปีหน้าที่มองว่าการขยายตัวน่าจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวที่เร็วของประเทศในเอเชียและการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านแผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็งที่ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวในปี 2553 กระทรวงการคลังจึงปรับประมาณการณ์จีดีพีใหม่ดีขึ้นจากที่มองว่าขยายตัวเป็นบวก 3.3% มาเป็นขยายตัว 3.5% หรือมีช่วงการขยายตัวที่ 3-4%

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามในปีหน้าทั้งปัญหาการเมือง ปัญหามาบตาพุดว่าจะมีการแก้ไขได้เร็วหรือไม่ รวมถึงการใช้จ่ายเงินไทยเข้มแข็งว่าสามารถเบิกจ่ายได้ถึง 80% หรือไม่ หากทุกปัจจัยเป็นไปตามที่คาดไว้อาจทำให้จีดีพีขึ้นไปถึง 4% แต่หากไม่เป็นตามแผนจีดีพีก็อาจลดลงไปเหลืออย่างน้อยที่สุด 3%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวถึงการปรับประมาณการณ์จีดีพีใหม่ทั้งปีนี้และปีหน้ามาจากการพิจารณา 6 ปัจจัยหลัก คือ 1. เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะในเอเชียซึ่งน่าจะดีต่อเนื่องถึงปีหน้า 2.ราคาน้ำมันที่มีแนวดน้มจะสูงขึ้นจากปีนี้โดยมองไว้ที่ 80 เหรียญต่อบาร์เรล จากปีนี้ที่ 61.4 เหรียญ ซึ่งน่าจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจ

3.ปริมาณการค้าโลกที่กลับเป็นบวกส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวสูงขึ้น 4.ค่าเงินบาทที่มีนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์จากปีนี้ 34.3 บาทต่อดอลลาร์ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย 5.อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ปีหน้าอาจปรับขึ้น 0.50-0.75% ในช่วงครึ่งปีหลังและ6.รายจ่ายภาครัฐรวมงบไทยเข้มแข็งที่ตั้งเป้าการเบิกจ่ายไว้ที่ 80%

"แม้จีดีพีน่าจะอยู่ที่ 6 ปัจจัย แต่ปัจจัยเสี่ยงที่มากที่สุดน่าจะอยู่ที่การเมืองเพราะเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้และมีผลโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ขณะที่ความเสี่ยงจากราคาน้ำมันเงินเฟ้อและการลงทุนในมาบตาพุดนั้นยังพอจะประเมินได้ โดยจีดีพี 3.5% นั้นคำนวณจากโครงการในมาบตาพุดที่สามารถเดินหน้าได้ 50% แต่หากไม่มีเม็ดเงินลงทุนใหม่ก็จะเหลือเพียง 3% ส่วนน้ำมันที่ปรับขึ้นทุก10 เหรียญต่อบาร์เรลกระทบจีดีพีลดลง 0.2%และส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.5%" นายเอกนิติกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น