บีเอ็มซีแอลคาดรายได้ปี 53 เพิ่ม 10% ส่งผล EBITDA ขยับเป็นบวก จากปี 52 ที่ยังติดลบเกือบ 180 ล้านบาท เผยปัจจัยหนุนจำนวนผู้โดยสารเพิ่ม ปรับราคา ลดค่าใช้จ่าย ขณะที่ปี 52 รายได้เชิงพาณิชย์หลุดเป้า เหตุภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อ โอดรัฐทำสีม่วงล่าช้าทำให้ต้องขยับเป้ากำไรจากปี 53 ไปเป็นปี 57 แทน ประกาศร่วมประมูลเดินรถสายสีม่วง ชูได้เปรียบ ต้นทุนต่ำ หนุนรัฐใช้ PPP - Gross Cost ลดความเสี่ยง-คุมค่าโดยสารได้
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเอ็มซีแอล เปิดเผยว่า ผลประกอบการในปี 2552 ในส่วนของรายได้คาดว่าจะเติบโตกว่าปี 2551 ประมาณ 8% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดว่ารายได้จะโต 10% ทั้งนี้เนื่องจาก จำนวนผู้โดยสารต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้และรายได้เชิงพาณิชย์ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 30% จากที่บริษัทมีรายได้เชิงพาณิชย์ในสัดส่วน 15% รายได้จากการเดินรถ 85 % ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหา โดยคาดว่าปี 52 จะมีรายได้รวมประมาณ 1,500 ล้านบาท สูงกว่าปี 51 ที่มีรายได้รวมประมาณ 1,400 ล้านบาท
ส่วนปี 53 บริษัทตั้งเป้ารายได้ว่าจะเติบโตกว่าปี 52 ประมาณ 10% และประมาณการณ์ว่า จะมีกำไรก่อนหักภาษีดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เป็นบวกหลายสิบล้านบาท ในขณะที่ EBITDA ในปี 52 คาดว่าจะติดลบประมาณ 180 ล้านบาท ซึ่งดีกว่าปี 51 ที่ EBITDA ติดลบ 240 ล้านบาท โดยมีปัจจัยจากการมีรายได้จากค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น จาก 2 ปัจจัย คือประมาณการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มจาก 2 แสนคนต่อวันเป็น 2.1
แสนคนต่อวัน การปรับขึ้นค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ค.53 การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โดยปัจจุบันบริษัทมีภาระหนี้เงินกู้ประมาณ 11,000 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ย 700-800 ล้านบาทต่อปี มีอัตราหนี้สินต่อทุน 3 เท่า
นายสมบัติกล่าวว่า เดิมบริษัทคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนและมีกำไรในปี 53 หรือปีที่ 6 ในการเปิดเดินรถภายใต้เงื่อนไขรัฐบาลเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มในปี 53 แต่ขณะนี้โครงการล่าช้าออกไป ทำให้คาดว่า บริษัทจะมีกำไรได้ในปี 57 หรือปีที่ 10 ของการเปิดให้บริการ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มีกำไรได้นั้นจะต้องมีปริมาณผู้โดยสารเป็น 3 แสนคนต่อวัน ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้รถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลได้ อย่างน้อย 1 แสนคนต่อวันทันทีที่เปิดให้บริการ
นายสมบัติกล่าวว่า บริษัทพร้อมจะเข้าร่วมประมูล เป็นผู้บริหารการเดินรถ โครงการสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และเชื่อว่าจะสามารถเสนอราคาได้ต่ำเนื่องจากเป็นผู้เดินรถเดิมจึงสามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่าเอกชนรายอื่น และเห็นว่า รูปแบบการให้ เอกชนเข้าร่วมลงทุนในการเดินรถสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ แบบ PPP (Public Private Partnership) Gross Cost หรือการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนจัดหาระบบและซื้อรถ ซ่อมบำรุงโดยรัฐจ่ายค่าจ้างบริหารการเดินรถและเก็บเงินค่าโดยสารเองนั้น เป็นแนวทางที่ดี เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมค่าโดยสารได้ รวมถึงการใช้ระบบตั๋วร่วม ในขณะที่เอกชนก็จะมีความเสี่ยงน้อยในการลงทุน
“ต้นทุนในการบริหารการเดินรถสายสีม่วงของบีเอ็มซีแอลต่ำกว่ารายอื่น เพราะสามารถแชร์ค่าใช้จ่ายกับรถไฟใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้ได้ แต่ก็ยังเชื่อว่า ไมได้เป็นการปิดกั้นเอกชนรายอื่นในการแข่งขันเพราะสุดท้ายจะวัดที่ใครทำต้นทุนได้ต่ำกว่ากัน ซึ่งบริษัทมีแผนจะซื้อรถเพิ่มอีก 5 ขบวนสำหรับเดินรถใต้ดิน เมื่อสายสีม่วงเปิด และหากบริษัทได้เป็นผู้เดินรถสายสีม่วงด้วยก็จะซื้อรถอีก 25 ขบวน สำหรับสายสีม่วง"