xs
xsm
sm
md
lg

"พรานทะเล"ปรับเกมรุกพร้อมปรุง เทคโอเวอร์ รง.ผักปั้น“พรานไพร’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรานทะเล คืนสังเวียนอาหารทะเลแช่แข็งเต็มสูบ เดินเกมโฟกัสจุดแข็งลุยตลาดอาหารพร้อมปรุง ปรับคอนเซ็ปต์ชงอาหารทะเล เพื่อสุขภาพ สร้างความต่าง แตกไลน์อาหารแช่เย็นพร้อมปรุงเสริมทัพ ชูกลยุทธ์ราคาถูกกว่าอาหารแช่แข็ง 20% ขยายกลุ่มแม่บ้านยุคใหม่ เท 20 ล้านบาท ซื้อโรงงานผลิตผักปลอดสารพิษป้อนโมเดิร์นเทรด ลั่น 3 ปีขายผักปรุงกับอาหารทะเล ปีหน้าโต 40% กวาด 1,400 ล้านบาท

นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งพรานทะเล เปิดเผยว่า ปีนี้การดำเนินตลาดของพรานทะเลค่อนข้างชะลอตัว หลังจากที่บริษัทได้สร้างตลาดอาหารแช่แข็ง 5 ปี ส่งผลให้มีสินค้าอาหารแช่แข็งพร้อมทานร่วม 16 แบรนด์ และพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่ยึดติดกับแบรนด์ การตัดสินใจซื้อพิจารณาจากราคาและเมนูเป็นหลัก ทำให้บริษัทต้องศึกษาสินค้าคู่แข่งเพื่อปรับปรุงหาจุดแข็งของพรานทะเลและสร้างความแตกต่าง ภายใต้คอนเซปต์ใหม่”อาหารทะเลแช่แข็งเพื่อสุขภาพ” โดยมีสโลแกน “สุขภาพดี สมองดี ที่ พรานทะเล” รองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและมองหาโปรตีนจากสัตว์เนื้อขาวมากกว่าเนื้อแดง

สำหรับนโยบายการตลาดจากนี้ บริษัทโฟกัสกลุ่มอาหารพร้อมปรุง(ready to cook) เพราะเป็นตลาดที่มีความแข็งแกร่ง จากปัจจุบันพรานทะเลมีกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งพร้อมปรุง และเป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่ง 60% จากมูลค่าตลาด 500 ล้านบาท เติบโต 10% ล่าสุดบริษัทได้แตกไลน์อาหารแช่เย็นพร้อมปรุงภายใต้แบรนด์ “พรานทะเล” ซึ่งจะรุกตลาดในปีหน้า นำร่อง 9 เมนู

โดยใช้กลยุทธ์วางราคาสินค้าถูกกว่าอาหารแช่แข็ง 20% ราคาเริ่มต้น 29 บาทเพื่อทลายทัศนคติของกลุ่มผู้บริโภคที่มองว่าอาหารทะเลมีราคาสูง นำร่องจำหน่ายที่โมเดิร์นเทรดและซูเปอร์มาร์เก็ต 2 แห่ง ปัจจุบันมียอดขาย 7-8 แสนบาท และปีหน้าหากขยายช่องทางจำหน่ายครอบคลุมตั้งเป้ายอดขาย 100-200 ล้านบาท

“แม้ว่าตลาดอาหารแช่เย็นพร้อมปรุงมีสัดส่วนเพียง 1-2% จากตลาดมูลค่า 500 ล้านบาทเท่านั้น แต่เรามองว่าเป็นโอกาสขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ เพราะจากการสำรวจพบว่า กลุ่มแม่บ้านส่วนใหญ่จะไม่ซื้ออาหารทะเลแช่แข็ง ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าให้มีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้นจาก 6 วัน เป็น 10 วัน”

สำหรับปีหน้าใช้งบตลาด 20 ล้านบาท เพื่อสื่อสารกลุ่มอาหารทะเลพร้อมปรุง สู่กลุ่มเป้าหมายแม่บ้านและพ่อบ้าน เตรียมนำพรีเซ็นเตอร์อายุ 60 ปี มีสุขภาพดีชื่นชอบอาหารทะเล เพื่อสะท้อนถึงภาพลักษณ์อาหารทะเลเพื่อสุขภาพ ผ่านทางสื่อนิตยสาร อีก

ทั้งนี้บริษัทได้ทุ่มงบ 20 ล้านบาท ซื้อกิจการโรงงานผลิตผัก ที่ ย่านตลาดไทเพื่อแตกซับแบรนด์ “พรานไพร”ในระยะแรกวางแผนผลิตผักปลอดสารพิษป้อนให้แก่โมเดิร์นเทรด วางตำแหน่งเป็นแมส เจาะแม่บ้านระดับกลาง คาดว่ายอดขายช่วงแรก 250 ล้านบาท ใกล้เคียงกับบริษัทผลิตผักรายเดิม

ทั้งนี้การตัดสินใจแตกไลน์ธุรกิจจากอาหารทะเลแช่แข็งมาสู่ผู้ผลิตผัก เพราะเล็งเห็นช่องว่างตลาดผักที่ส่วนใหญ่เป็นแมส และบริษัทสามารถนำนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เพื่อผลักดันให้ตลาดเติบโตได้อีกมาก ภายใน 3 ปี บริษัทนำผักมาพัฒนาเป็นอาหารปรุงคู่กับเนื้อสัตว์ ล่าสุดทดลองจำหน่ายสลัดผักในโมเดิร์นเทรด 10 สาขา

ด้านการทำตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมทาน บริษัทจะเพิ่มเมนูเนื้อปลาในกลุ่มข้าวต้มซึ่งเป็นสินค้าเรือธงที่สร้างรายได้ เช่น ข้าวต้มปลากะพง ข้าวต้มปลาแซลมอน เป็นต้น ส่วนด้านคลิ๊ก ได้เพิ่มขนาดบรรจุภัณฑ์เล็กราคา 10 บาท จากเดิมขนาดใหญ่ราคา 15 บาท ซึ่งได้เริ่มวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมทานมูลค่า 3,000 ล้านบาท ปีนี้เติบโต 9-10% สำหรับพรานทะเล มีส่วนแบ่ง 8%

ส่วนกลุ่มธุรกิจฟูดส์ เซอร์วิส ปีหน้ามุ่งเน้นการขยายสาขาทำเลที่ดี มีศักยภาพ จากปัจจุบันมี 40 สาขา ซึ่งปีนี้บริษัทมีส่วนแบ่ง 10% จากมูลค่า 2,000 ล้านบาท ด้านกลุ่มธุรกิจซูชิ การทำตลาดเน้นการผลิตป้อนแต่ละห้างสรรพสินค้าแตกต่างกัน เนื่องจากความต้องการของลูกค้ามีความแตกต่างกัน จากตลาดซูชิมูลค่า 500 ล้านบาท โต 20% พรานทะเล มีส่วนแบ่ง 50%

สำหรับผลประกอบการสิ้นปีนี้ 1,000 ล้านบาท โต 15% แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็งพร้อมปรุง 300 ล้านบาท กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง 250 ล้านบาท กลุ่มซูชิ 250 ล้านบาท และฟู้ดส์ เซอร์วิส 200 ล้านบาท สำหรับในปีหน้านี้ตั้งเป้ามียอดขาย 1,400 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทยูเนี่ยน โฟรเซ่น มีรายได้ 7,600 ล้านบาท เกินเป้าหมายจากเดิมตั้งไว้ 7,500 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทส่งออกกุ้งเป็นหลัก และกุ้งเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่เติบโตถึง 10% สำหรับปีหน้าตั้งเป้ามีรายได้ 8,700 ล้านบาท โดยตลาดหลักเป็นอเมริกา มียอดขาย 4,200 ล้านบาท ยุโรป 2,500 ล้านบาท และญี่ปุ่น-เอเชีย 2,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น