นายกฯกระตุ้นเอกชนอาเซียน ร่วมขับเคลื่อนไปสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมนำไปสู่การพบปะในเวทีต่างๆ แนะภาคเอกชนต้องใช้โอกาสทองที่กำลังเกิดขึ้นเร่งฟื้นเศรษฐกิจ โดยเร่งเชื่อสัมพันธ์ ทั้งด้านการค้า-การลงทุน คาดอีก 5 ปี อาเซียนจะเป็นตลาดสำคัญของโลก และเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานประชุมอาเซียน บิซิเนส ฟอรัม 2009 โดยระบุว่า ขณะนี้ที่ประชุมระดับผู้นำอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับการพบปะกับเวทีระดับต่างๆ ที่จัดขึ้น โดยผู้ทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนพร้อมไปทุกประชุมกับทุกเวทีโดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การให้ก้าวไปสู่ความร่วมมือด้วยกันต้องมีความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และยอมรับว่าการดำเนินการตามข้อตกลงของกลุ่มอาเซียนเพื่อลดภาษีให้เป็น 0 แต่บางประเทศต้องชะลอออกไป เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน ที่ยังไม่มีความพร้อม ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องชะลอการดำเนินการให้ได้ตามข้อตกลง
โดยในช่วง 5 ปีข้างหน้า ถือเป็นสิ่งท้าทายมาก เพราะภาคเอกชนต้องร่วมกับผลักกันให้อาเซียนมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก และจากนี้ไปอาเซียนต้องสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน โดยเอกชนต้องเร่งหยิบฉวยโอกาส เพื่อทำให้เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตขึ้น
“ผมมองว่า ใน 5 ปีที่เหลือ เราจะเคลื่อนที่เศรษฐกิจของอาเซียน เราจะทำให้สำเร็จ โดยประชากรที่มีการเติบโตรวดเร็ว การเปิดการค้าเสรีที่ลดภาษีเหลือ 0% เราจะดึงอาเซียเชื่อมโยงกันตลาด เราจะสร้างประชาคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงที่จะมุ่งสร้างประชาคมใหม่ในปี 2015 หรือปี 2558”
ดังนั้น จึงคาดหวังว่า ใน 5 ปีข้างหน้าอาเซียนจะกลายเป็นตลาดเดียวที่ประกอบด้วยประชากรประมาณ 600 ล้านคน ซึ่งนับเป็นตลาดที่มีอำนาจซื้อสูง นอกจากนี้ อาเซียนจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูง มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม รวมทั้งมีเศรษฐกิจเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก และคาดหวังว่าชาติอาเซียนจะมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงร่วมกัน
นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า อาเซียนต้องเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้งกองทุนสาธารณูปโภค โดยจีนสมทบเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกองทุนให้สินเชื่อแก่เอกชนของประเทศสมาชิกเพื่อลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอีก 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาการขนส่ง ทำให้ต้นทุนขนส่งดีขึ้น
ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องเร่งพัฒนาระบบขนส่ง คือ ปรับปรุงประสิทธิภาพการรถไฟฯ ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เพราะต้นทุนการขนส่งของไทยยังสูงมาก จึงเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไข เพราะการขนส่งทางรางมีความสำคัญมาก หากไม่เร่งทำจะไม่สามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการส่งออกนำเข้าของไทย และการพัฒนาเชื่อมโยงระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งไทยพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในการเชื่อมโยงการขนส่ง แต่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การพัฒนาด้านเศรษฐกิจเมื่อดูงบประมาณต่าง ๆ คงไม่มีประเทศใดมีงบเพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้
ดังนั้น เอกชนจะต้องให้ความสำคัญลงทุนพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อช่วยตัวเองอีกทางหนึ่ง และจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการทำงานร่วมกันของกลุ่มอาเซียน จึงถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมากสำหรับภาคธุรกิจเพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปแล้ว
นายดุสิต นนทนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจไทยต้องเตรียมตัว หลังรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 เพราะตลาดอาเซียนจะมีขนาดใหญ่ขึ้น กว่า 560 ล้านคน ซึ่งไทยถือว่ามีความพร้อมและจะเป็นผู้ให้บริการที่มีต้นทุนต่ำสุด หรือมีประสิทธิภาพสูงสุดในอาเซียน ซึ่งจากการประชุมผู้นำอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทุกประเทศต่างเห็นพ้องให้มีการทำงานร่วมกัน และลดกำแพงภาษีระหว่างกันทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงาน และการลงทุน คล้ายกับเป็นประเทศเดียวกัน โดยไทยยังมีเวลาในการปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถึง 5 ปี แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเอสเอ็มอี เพราะตลาดกว้างขึ้น การแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น เอสเอ็มอี ต้องมีการปรับตัว
สำหรับการส่งออกของไทย นายดุสิต มั่นใจว่าไตรมาส 4 และปี 2553 การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักฟื้นตัวดีขึ้น ไทยต้องเร่งใช้ประโยชน์จากการฟื้นตัวครั้งนี้ ทั้งนี้ เชื่อว่า การส่งออกปีหน้าจะเป็นไปตามเป้าหมาย ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ ร้อยละ 10 และกลับสู่ภาวะปกติ