xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ฉายภาพดอลลาร์เอฟเฟกต์ คลื่นการเงินยักษ์ป่วน ศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.แจงเงินบาทแข็งค่า ยังไม่ทำให้ไทยต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน พร้อมชี้ต้นเหตุสำคัญ เกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าเกินความเป็นจริง โดยเปรียบเทียบ 3 ไตรมาสแรกปี 52 เงินบาทเทียบเงินดอลลาร์อ่อนค่า 2.5% แต่หากเทียบกับสกุลเงินคู่ค้า 21 ประเทศ พบว่า อ่อนค่าแค่ 1% พร้อมจับตาการผลกระทบโยงไปถึงการเก็งกำไรน้ำมัน อาจกระทบต่อเงินเฟ้อในอนาคต

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ยังไม่ได้ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และแม้ว่าในเดือนตุลาคม 2552 นี้ เงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางที่เป็นมาตั้งแต่ต้นปี ไม่ได้พลิกกลับข้างหรือผิดจากที่เคยเป็น

ทั้งนี้ ธปท.มองว่า การแข็งค่าของเงินบาท มีผลมาจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนมาถึงไตรมาส 3 ปี 2552 เงินบาทแข็งค่า 2.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่หากเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง 21 ประเทศ ก็พบว่า เงินบาทอ่อนค่า 1% ก็แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทยังไม่สูญเสียความสามารถด้านการแข่งขัน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ธปท.ยืนยันว่า ไม่มีจุดประสงค์ที่จะรักษาระดับค่าเงินบาทให้คงที่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เพราะการที่ไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลียนลอยตัวแบบมีการจัดการ ทำให้เมื่อมีปัจจัยเข้ามาเงินบาทก็จะสามารถเคลื่อนไหวได้ทุกวันและต่อทุกสกุล ธปท.ก็จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทต่อเมื่อเกิดความบกพร่องในตลาดจนกระทบต่อภาคส่งออกและนำเข้า และในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีจำเป็นต้องใช้นโยบายทุกด้านมาสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ธปท.ยังมองว่า การอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ ได้ส่งผลกระทบต่อการเก็งกำไรทองและราคาน้ำมันในตลาดสินค้าโภคภัฑณ์ โดยน้ำรับว่า การพุ่งสูงขึ้นของราคาน้ำมันที่เกิดจากการเก็งกำไร ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการจริงของตลาด

ธปท.ประเมินว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน กำลังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลในการใช้ตั้งสมมติฐานปีหน้า และยังถือเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคต

“ก็ต้องดูแนวโน้มว่าน้ำมันจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ประเทศไทยก็คงดีขึ้น และถ้าน้ำมันเกิดจากความต้องการที่แท้จริง ก็อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ถ้าน้ำมันเกิดขึ้นจากการเก็งกำไรก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นายไพบูลย์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น