ไทยเบฟ ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ผ่าเบียร์ช้างออกเป็น 3 ส่วน แยกเป็น 3 ผลิตภัณฑ์ พร้อมปรับภาพลักษณ์เบียร์ช้างใหม่ เน้นไลฟ์สไตล์ เปลี่ยนฉลากข้างขวดให้ดูทันสมัยมากขึ้น พร้อมปรับปรุงรสชาติให้ถูกปากมากยิ่งขึ้น คาดเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ 40-42% ลั่นขยายการลงทุนเพิ่ม ทั้งในเอเชีย-ยุโรป
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์ช้าง กล่าวว่า บริษัทได้มีการปรับศักยภาพขององค์กรโดยการแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เบียร์ช้างเป็น 3 กลุ่มชัดเจน คือ ช้างคลาสสิค ช้างดราฟท์ และ ช้างไลท์ เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกับ และปรับภาพลักษณ์ของเบียร์ช้างที่แสดงถึงไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของคนรุ่นใหม่ โดยได้มีการปรับฉลากและบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัย
ทั้งนี้ เชื่อว่า การปรับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์จะเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้น เช่น กลุ่มผู้รักสุขภาพ กลุ่มผู้หญิง โดยการปรับภาพลักษณ์ครั้งนี้ บริษัทใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ในการทำตลาดในช่วง 3 เดือนนี้ แบบครบวงจรและต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้าใหม่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
“เราหวังว่า การปรับโครงสร้างใหม่นี้ บริษัทจะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 40-42% ภายใน 2 ปี จาก 35% ในปัจจุบัน รองจากผู้นำตลาดที่มีมาร์เก็ตแชร์ 45-46% ซึ่งบริษัทจะพยายามพัฒนาทุกด้าน ทั้งรสชาติ การทำตลาด เชื่อว่า ไม่เกิน 2 ปีเราน่าจะเห็นมาร์เก็ตแชร์ของเบียร์ช้าง 40-42% จาก 35% ในปัจจุบัน”
สำหรับไทยเบฟยังพยายามรักษารายได้และกำไรให้ไม่ต่ำกว่าปีก่อน ที่มีรายได้ 1 แสนล้านบาท หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว บริษัทเชื่อว่า จะมีการขยายตัวของรายได้ของบริษัทแม้ว่าจะกังวลเรื่องปัจจัยการเมืองบ้าง แต่เชื่อว่าหากเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวก็ไม่น่ามีผลกระทบมากหากมีปัญหาการเมือง
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะขยายตลาดไปยังประเทศ ทั้งในแถบภูมิภาคอาเซียนและยุโรป โดยแน้นผลิตภัณฑ์หลัก คือ เบียร์ช้างทั้ง 3 กลุ่ม และบริษัทยังมีแผนจะทำธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์แต่ต้องใช้เวลาศึกษาความเป็นไปได้ โดยเบื้องต้นสนใจธุรกิจน้ำผลไม้ แม้ว่าทุกวันนนี้บริษัทจะมี บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI เป็นบริษัทในเครือแล้วก็ตาม และเชื่อว่า การทำน้ำผลไม้น่าจะมีผลดีต่อสินค้าเกษตร แต่บริษัทจะไม่เน้นเทกโอเวอร์ และมองว่า การมองหาธุรกิจใหม่จำเป็นต้องใช้เวลา และต้องมีการศึกษารายละเอียดให้แน่ชัด เนื่องจากบริษัทยังไม่เคยทำมาก่อน
ส่วนแผนการเข้าจดทะเบียนแบบ Dual Listing ขณะนี้คณะกรรมการบริษัทยังไม่มีนโยบายใดๆ ออกมาเนื่องจากไม่อยากมีปัญหาอีก แต่ถ้าถามความตั้งใจในฐานะบริษัทคนไทยก็ให้ความสำคัญและต้องการที่จะเทรดในตลาดหุ้นเมืองไทย
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ประสบปัญหาจากเรกกูเรเตอร์ที่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้การทำธุรกิจยากลำบาก