ผลสำรวจพบคนกรุงเทพฯ เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลง คนจนเมืองเครียดปัญหาเศรษฐกิจ กังวลอนาคต ปัญหารถติด และราคาน้ำมัน ส่วนใหญ่มีหนี้สินเพิ่ม และรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย ขณะที่ปัญหาสังคมก็เพิ่มขึ้น ทั้งยาเสพติด และการตั้งแก๊งมั่วสุม
น.ส.วิริยา วรกิตติคุณ นายกสมาคมสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจความเห็นคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มตัวอย่าง 500 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป และรายได้ครอบครัวมากกว่า 10,000 บาท ในหัวข้อ “ความคิดเห็นต่อสภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน” ระหว่างวันที่ 19-30 สิงหาคม 2552 โดยพบว่า คนกรุงเทพฯ มีความเชื่อมั่นต่อสภาพเศรษฐกิจลดลงจากการสำรวจครึ่งปีแรก โดยที่เชื่อมั่นมากและค่อนข้างเชื่อมั่นลดลงจากร้อยละ 31 เหลือร้อยละ 19 แต่มีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะความกังวลในปัญหาว่างงานเริ่มลดลง
สำหรับสาเหตุหลักที่ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจลดลง มาจากภาวะการเมืองที่ไม่มั่นคง ราคาสินค้าปรับขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน พร้อมระบุ คนที่มีฐานะปานกลางและต่ำมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจน้อยกว่าคนมีฐานะดี แต่เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ มีภาระหนี้ต้องชำระมากขึ้น ขณะที่คนที่เก็บออมเงินลดลง
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาหลายมาตรการ พบว่า คนกรุงเทพฯ รับทราบมากกว่าร้อยละ 70 และเชื่อว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดย 3 อันดับแรกที่กลุ่มตัวอย่างรู้จักมากที่สุด ได้แก่ มาตรการเรียนฟรี 15 ปี โครงการธงฟ้าและลดราคาน้ำมันดีเซล 2 บาทต่อลิตร ส่วนประเด็นที่คนกรุงเทพฯ ยังอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ การลดราคาน้ำมัน จัดสวัสดิการในยามเจ็บป่วย และแก้ปัญหายาเสพติด รวมถึงการมั่วสุมของเยาวชน
ผลสำรวจดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวรูปตัวยู หลังพบว่าการใช้จ่ายคนกรุงเทพฯ เริ่มมีมากขึ้น โดยสินค้าที่พร้อมจับจ่ายคือ ทองคำ เพราะถือเป็นการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องใช้ ไฟฟ้าและรถยนต์ ที่มีความพร้อมจะจับจ่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การสำรวจทางด้านสังคมพบว่า คนกรุงเทพฯ เครียดมากขึ้น จากปัญหาเศรษฐกิจ ความกังวลในอนาคต และเวลาในการเดินทาง ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในภาวะการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว โดยอายุ 25-49 ปี มีความเครียดสูงที่สุด เนื่องจากต้องรับภาระของตัวเองและครอบครัว
นอกจากนี้ ยังพบว่า คนกรุงเทพฯ ปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ การซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็นสูงถึงร้อยละ 88 ของกลุ่มตัวอย่าง ลดการรับประทานอาหารนอกบ้านร้อยละ 29 อยู่กับบ้านมากขึ้น ร้อยละ 36 ซื้อสินค้าปริมาณมากเพื่อให้ราคาถูกลงร้อยละ 27 และลดค่าใช้จ่ายด้านบันเทิงร้อยละ 19