"ดุสิตโพล" เผยผลสำรวจ ปชช.พบ ศก.ซบเซา คนไทยลดการใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ 33.75% ยอมรับกระเป๋าแฟบลง การเงินไม่คล่องตัว ไม่มีเงินไปเที่ยว และต้องประหยัดมากขึ้น กังวลช่วงเทศกาล 11-15 เม.ย. อาจเกิดความไม่สงบ บ้านเมืองไม่เดินหน้า ขณะที่โพล "สมาคมการตลาด" เผยคนกรุงเชื่อมั่น "อภิสิทธิ์" แก้ปัญหาได้
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ เกี่ยวกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งทุกปีประชาชนจะตื่นตัว โดยส่วนใหญ่จะเข้าร่วมกิจกรรมในเทศกาลนี้หลายรูปแบบ แต่ผลจากการเมืองร้อน วิกฤตเศรษฐกิจ และสังคมที่วุ่นวาย ปรากฏว่า ความแตกต่างระหว่างสงกรานต์ปีนี้กับปีที่แล้ว ร้อยละ 33.75 ระบุว่า จากเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ประชาชนมีกำลังในการใช้จ่ายน้อยลง การเงินไม่คล่องตัว ไม่มีเงินไปเที่ยว
ส่วนผลกระทบจากการเมืองร้อนๆ ณ วันนี้ ที่มีผลต่อสงกรานต์ ร้อยละ 33.01 ระบุว่า ทำให้เกิดการแตกแยก แบ่งพรรคแบ่งพวก กลัวว่าจะเกิดความวุ่นวายในช่วงเทศกาล ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ที่มีต่อสงกรานต์ ร้อยละ 52.15 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดงบประมาณในการเที่ยวสงกรานต์ลดน้อยลง และหัวข้อสุดท้าย ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ประชาชนมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่แล้ว ร้อยละ 39.58 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น เช่น งดเที่ยวตามต่างจังหวัด ซื้อของฝากน้อยลง
ด้านนางสาววิริยา วรกิตติคุณ นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการวิจัยความเข้มแข็งของคนกรุงเทพฯ ต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจจำนวน 500 คน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-13 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ทำการสำรวจหลังรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ทำงานได้ 3 เดือน และก่อนเกิดการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง พบว่าคนกรุงเทพฯ มีกำลังใจมากขึ้น โดยมีจำนวนผู้ไม่เครียดร้อยละ 28 เพิ่มจากร้อยละ 21 จากการสำรวจเมื่อปลายปี 2551 และมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 31 เนื่องจากเชื่อมั่นต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลว่าจะสามารถบริหารประเทศได้
อย่างไรก็ตาม คนกรุงเทพฯ ยังกังวลภาวะเศรษฐกิจตกต่ำถึงร้อยละ 47 รองลงมาความไม่คงทางการเมืองร้อยละ 30 นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯ ถึงร้อยละ 66 เห็นด้วยกับมาตรการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท มีเพียงร้อยละ 17 ที่ไม่เห็นด้วย และผู้ที่ได้รับเช็คส่วนใหญ่ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และที่พักอาศัย บางส่วนออมและชำระหนี้ สำหรับความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ อยากให้รัฐบาลช่วย ส่วนใหญ่เพิ่มการจ้างงาน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รองลงมาคือ ลดราคาสินค้า
น.ส.วิริยา กล่าวว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ทำให้คนกรุงเทพฯ ถึงร้อยละ 67 ชะลอการซื้อสินค้าและหันมาใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ลดการใช้จ่าย โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดบันเทิง ลดลงถึงร้อยละ 11 หมวดการออม ลดลงร้อยละ 8 ลดการซื้อสินค้าราคาแพง ขณะเดียวกันพบว่าคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 13 มีภาระต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่ผ่านมา และอีกร้อยละ 11 จ่ายหนี้ลดลง