ธ.ทหารไทย เร่งอัดฉีดสินเชื่อครึ่งปีหลัง กู้วิกฤตตัวเลข 7 เดือนแรก ติดลบหนักกว่า 11% กจญ.แจงผลพวง ศก.ซบ-ปรับโครงสร้างป่วนหนัก เพราะมีผลกระทบไปถึงระดับสาขา “คลัง” ไฟเขียวลดพาร์หุ้นต่ำกว่า 10 บาท เพื่อล้างขาดทุนสะสม พร้อมยอมรับ ธนาคารยังติดเงื่อนไขการถือหุ้นบุริมสิทธิ์ที่จะครบกำหนด พ.ค.53
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กล่าวว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธนาคารจะเร่งดันสินเชื่อ หวังขยับขึ้นมาทรงตัวที่ 0% จากเผย 7 เดือนแรกปี 2552 สินเชื่อติดลบ 11% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารเลื่อนซื้อธุรกิจลีสซิ่งจากปี 2552 เพื่อรอการปรับโครงสร้างสมบูรณ์
สินเชื่อของธนาคารติดลบอย่างหนักต่อเนื่องจากปี 2551 ที่ติดลบ 9% แต่ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะธนาคารอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างที่มีผลกระทบถึงระดับสาขา จึงเป็นธรรมดาที่จะทำให้สินเชื่อชะลอตัว ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สินเชื่อในช่วง 7 เดือนแรกติดลบไปถึง 11%
อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม 2552 เริ่มมียอดสินเชื่อใหม่บันทึกเข้ามาถึง 6 พันล้านบาท จากยอดอนุมัติสินเชื่อในช่วง 8 เดือนแรก ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้คาดว่าในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2552 สินเชื่อของธนาคารจะเริ่มทรงตัว และขยายตัวได้ดีขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2552 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารพยายามจะทำให้ครึ่งปีหลังสินเชือขยายตัวได้มากที่สุด เพื่อให้ทั้งปี 2552 สินเชื่อปรับขึ้นมาที่ 0% ให้ได้ หรืออาจติดลบเล็กน้อย
“ผมมั่นใจสินเชื่อไตรมาส 3 จะอยู่ตัว หยุดติดลบ และบวกขึ้นมาในไตรมาส 4 ซึ่งช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ติดลบถึง 11% ส่วนแนวโน้ม 6 เดือนหลัง หากจะพลิกให้เติบโตถึง 11% คงยาก ทั้งปีคาดว่าจะติดลบเล็กน้อย แต่เราก็มีแผนจะดึงกลับขึ้นมาเป็น 0% ขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นในไตรมาส 2 ปีนี้ และถ้าไตรมาส 4 ปีนี้ ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เอื้อต่อการเติบโตของภาคธุรกิจ ส่งผลดีต่อสินเชื่อด้วย
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ได้มีสัญญาณว่าจะพุ่งขึ้น โดยปัจจุบันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับ 13% และในช่วง 2 ไตรมาสหลังของปีนี้ ธนาคารไม่มีแผนจะขายสินทรัพย์ NPA หรือ NPL แต่จะเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจดีขึ้นน่าจะทำให้การปรับโครสร้างหนี้ง่ายขึ้นด้วย จึงคาดว่าสิ้นปีก็ NPL จะอยู่ในระดับ 12-13% ต่อไป
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อจากนี้ เชื่อว่า ในระยะสั้น-กลางยังทรงตัว แต่ก็เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เริ่มกังวลในการรักษาฐานเงินฝาก เนื่องจากภาครัฐได้ออกพันธบัตรจำนวนมากมาระดมเงินในประเทศ ธนาคารบางแห่งจึงได้ขยับดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไปบ้างแล้ว
นายบุญทักษ์ ยังเปิดเผยอีกว่า ในปีนี้ธนาคารได้ตัดสินใจที่จะเลื่อนแผนการทำธุรกิจลีสซิ่งออกไปจากที่เคยคาดว่าไตรมาส 3 ปี 2552 น่าจะได้ข้อสรุป เนื่องจากธนาคารต้องการให้ความสำคัญกับกการปรับโครงสร้างตามแนวคิด TMB Way ให้สมบูรณ์ก่อน เนื่องจากจะมีการเน้นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขององค์กรที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อนำ TMB ให้เติบโตไปสู่การเป็นธนาคารระดับประเทศและระดับโลกในอนาคต
- คลังสั่งลดพาร์ 10 บาทล้างขาดทุนสะสม
นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ธ.ทหารไทย พร้อมสนับสนุนแผนงานของธนาคารในการลดขาดทุนสะสม ซึ่งจะดำเนินได้ภายหลังเดือนพฤษภาคม 2553 แม้ว่าธนาคารอาจจะเลือกใช้การลดมูลค่าทางบัญชี (พาร์) จาก 10 บาท เพราะมองว่าไม่ได้กระทบต่อจำนวนหุ้น
“ขณะนี้ ธนาคารยังติดเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังถือหุ้นบุริมสิทธิ์ และกำหนดห้ามธนาคารลดพาร์จนกว่าจะครบระยะเวลาการถือหุ้นบุริมสิทธิ์ในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งจะมีการแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์เป็นหุ้นสามัญ หลังจากนั้น ธนาคารจึงสามารถดำเนินการล้างขาดทุนสะสมด้วยการลดพาร์ได้”
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า การล้างขาดทุนสะสมของธนาคารทหารไทยน่าจะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้น เพราะหลังจากนั้นเมื่อธนาคารจะมีผลกำไรก็จะสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ และยังเป็นการสะท้อนราคาหุ้นที่แท้จริงด้วย
“เราไม่ได้กังวลเกี่ยวกับแผนการล้างขาดทุนสะสมโดยการลดราคาพาร์ ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อราคาหุ้น หรือจำนวนหุ้นที่เรายังถืออยู่เท่าเดิม เพราะการลดพาร์เป็นการดำเนินการทางบัญชีเท่านั้น และการล้างขาดทุนสะสม ยังเป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นที่จะได้รับเงินปันผล และสะท้อนราคาหุ้นที่แท้จริง”
สำหรับแผนงานต่างๆ ของธนาคาร ไม่น่าจะกระทบต่อการหาพันธมิตรร่วมทุนรายใหม่ หรือการขายหุ้นในส่วนที่คลังถืออยู่ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบกระแสข่าวที่ธนาคารบาโรด้า ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากประเทศอินเดียสนใจเข้ามาซื้อหุ้นธนาคาร เนื่องจากการเพิ่มทุนของธนาคารก่อนหน้านี้ ส่งผลดีต่อฐานะของธนาคารในระยะปานกลาง