xs
xsm
sm
md
lg

กทช./ดีเอสไอจวกไอซีทีล้มเหลวแก้ปัญหาเว็บหมิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

‘ระนองรักษ์’อ้อนขอความร่วมมือกทช. ปิดเว็บไซต์ไม่เหมาะสม เผยมีอำนาจล้นฟ้าสั่ง พัก เพิกถอน ไม่ต่อใบอนุญาต ISP ที่ไม่ร่วมมือได้ ด้านกทช.จวกกลับ ไอซีทีไม่เคยแจ้งหรือประสานงานเลย ส่วนดีเอสไอ ทนไม่ไหวใช้ 100 ล้านทำโครงการเครื่องมือคัดกรองเว็บไซต์ไม่เหมาะสม คาดกันได้มากกว่า 90%

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในงานสัมมนาเรื่องการบูรณาการตรวจสอบและดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายว่าไอซีทีไม่มีอำนาจในการกำกับดูแล หรือ ออกคำสั่งใดๆแก่ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตรายย่อย หรือ ISP แต่ผู้ที่มีอำนาจคือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.เนื่องจากเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการแก่ ISP ในประเทศทั้งหมด

อย่างไรก็ตามสำหรับการดูแลและควบคุมเว็บไซต์ไม่เหมาะสมนั้น ไอซีทียอมรับว่าไม่สามารถควบคุมดูแลได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้อำนาจควบคุม ISP อย่างกทช.ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าแทบจะไม่มีการประสานงานร่วมกันเลย

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว ประการหนึ่งคือการเร่งสร้างจิตสำนึกที่ดีให้เด็กและเยาวชนตั้งแต่ชั้นประถม ในการปฏิเสธการเสพเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เพราะถือว่าเด็กน่าจะซึมซับได้ง่าย ส่วนความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 นั้นไม่แน่ใจว่าปัจจุบันเข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึงแค่ไหน กระทรวงไอซีทีจึงได้จัดเตรียมหนังสือเกี่ยวกับพ.ร.บ.ดังกล่าวออกแจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป

นายบุญโชค รุ่งโชติ ผู้อำนวยการสำนักกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่าที่ผ่านมาไม่เคยได้รับรายงานจากกระทรวงไอซีทีเพื่อให้ดำเนินการกับ ISP ในการสกัดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเลย ทำให้กทช.ไม่สามารถใช้อำนาจในการกำกับดูแลลงโทษ ISP ตามประกาศของกทช.คือการพัก เพิกถอน และไม่ต่อใบอนุญาต ISP ได้ ดังนั้นกทช.คิดว่ากระทรวงไอซีทีควรปรับปรุงการประสานงานกับกทช.ใหม่
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กล่าวย้ำว่ากระทรวงไอซีทีไม่เคยแจ้งไปยังกทช. เพื่อให้จัดการกับ ISP ที่ปล่อยให้มีการเผยแพร่เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเลย แม้กระทั่ง ISP บางรายละเมิดคำสั่งศาลไม่ดำเนินการปิดกั้น URL เว็บไซต์ รวมทั้งยังปล่อยให้เว็บไซต์ไม่เหมาะสมดังกล่าวเผยแพร่ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตซึ่งถือว่ามีความผิดและกทช.มีอำนาจเอาผิด100 % ถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้แต่ไอซีทีก็ไม่เคยแจ้งไปยังกทช.

ทั้งนี้ เว็บไซต์การพนันยังถือว่าเป็นปัญหาใหญ่เพราะสามารถแพร่กระจายเข้าไปถึงผู้เล่นได้ตามบ้านจากเดิมวิธีการเล่นจำกัดอยู่เฉพาะที่บ่อน ทำให้ยากต่อการตรวจจับ ส่วนเว็บไซต์หมิ่นสถาบันไม่ค่อยมีผลกระทบในวงกว้างเพราะคนไทยส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังให้รักสถาบันกษัตริย์จึงไม่ค่อยมีใครสนใจเข้าไปดูเว็บหมิ่นสถาบันที่เผยแพร่ออกมาแต่ในทางกลับกันเว็บเหล่านั้นจะถูกต่อต้านอย่างหนักจากคนไทย อย่างไรก็ดีหาก กทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาสร้างมิติในการบูรณาการความร่วม มือคาดว่าจะสามารถป้องกั้นเว็บไซต์ไม่เหมาะสมได้ 60-70 %

สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้น ต่อไป กระทรวงไอซีที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสร้างเครื่องมือในการคัดกรอง หรือ internet acception ว่าเว็บไซต์ใดเหมาะสมที่จะเข้าหรือออกจากประเทศไทยได้บ้าง ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนอุปกรณ์ประมาณ 100 ล้านบาท โดยเครื่องมือดังกล่าวมีการใช้ในสหรัฐอเมริกา และอิสราเอล ขณะนี้ DSI กำลังนำร่องสร้างเครื่องมือคัดกรองดังกล่าวก่อนซึ่งจะช่วยประสิทธิภาพการปราบปรามดีขึ้นมากกว่า 90 % แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของโครงการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น