xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ปล่อยผีแบงก์นอก เปิดสาขาเพิ่ม-ขยายสาขาได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเตรียมอนุญาตให้สาขาธนาคารต่างชาติเปิดเพิ่มและขยายบทบาททางธุรกิจมากขึ้น ส่วนแบงก์พาณิชย์ไทย ใครดูแลความเสี่ยงดีให้รางวัลเปิดเสรีผลิตภัณฑ์ออกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธปท.พร้อมด้วยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมแผนแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 เสนอคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และหากได้รับการอนุมัติจะเตรียมชี้แจงให้แก่ธนาคารพาณิชย์ไทยและนอกประเทศเพื่อให้รับทราบถึงทิศทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงินในไทยระยะต่อไป และคาดว่าสถาบันการเงินไทยจะสามารถนำแผนดังกล่าวมาใช้ได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

“ต่อไประบบแบงก์ไทยเราจะขยายในแง่ของขนาดธุรกิจ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงเป็นสำคัญ และหากแบงก์ไหนทำได้ดีจะมีการเปิดเสรีมากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องเข้าไปกำกับดูแลมากเหมือนปัจจุบัน ซึ่งแบงก์สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาได้จะให้ความสำคัญรูปแบบธุรกิจเฉพาะที่สถาบันการเงินไทยยังขาดอยู่ รวมถึงในแง่ของสาขาธนาคารต่างชาติจะอนุญาตเพิ่มสาขา จากเดิมกำหนดให้มีตั้งในไทยได้สาขาเดียว ควบคู่ไปกับเพิ่มบทบาทและขอบเขตทำธุรกิจมากขึ้น” รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ทั้งนี้ แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับดังกล่าวเป็นแผนพัฒนาระบบการเงินไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า คือ ในช่วงปี 2552-2556 มุ่งเน้น 3-4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ลดต้นทุนระบบสถาบันการเงินไทยต่ำลง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับต้นทุนต่ำด้วย และสถาบันการเงินไทยสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ต่างชาติได้ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนที่เกิดจากการกันสำรองจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) และสินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ) ซึ่งล่าสุดในเดือนมิ.ย.ธนาคารพาณิชย์ในระบบมีทั้งสิ้น 545 พันล้านบาท และในส่วนของบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี) 489 พันล้านบาท โดยหากสามารถลดเอ็นพีเอดังกล่าวได้จะกลับมาสร้างผลตอบแทนเพิ่ม 1-2% ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ไทยได้

“ต้นทุนจากการกันสำรองของระบบแบงก์ไม่ได้เกิดจากการนำมาตรการฐานการเงินระหว่างประเทศ ฉบับ 39 (IAS39) มาใช้ แต่การนำ IAS39 มาใช้เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นมาตรฐานสากล แต่ที่แบงก์ต้องมีการกันสำรองที่สูงเกิดจากสต็อกเอ็นพีแอลและเอ็นพีแอลในช่วงที่ผ่านมาปริมาณสูงมาก ซึ่งยืดเยื้อกันมาตั้งแต่ปี 40 ทั้งในส่วนของงบการเงินแบงก์พาณิชย์และเอเอ็มซี”

2.สร้างประสิทธิภาพระบบการเงินไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะตัวชี้วัดที่ดีที่สุด คือ อัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ให้สามารถปรับลดลงได้อีกและในระยะยาวควรอยู่ในระดับต่ำ คือ ไม่เกิน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.9% ถือเป็นการสร้างกลไกสำคัญในการแข่งขันระบบมากขึ้นทั้งจำนวนผู้เล่น ประเภทธุรกิจ ซึ่งหากมีการเปิดเสรีเรื่องนี้มากขึ้นจะมีผลต่อการกำหนดราคาและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ ลดบทบาทของภาครัฐในการเข้าไปบริหารจัดการธุรกิจธนาคารพาณิชย์บางกรณี ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาการดำเนินการดังกล่าวภาครัฐไม่ประสบความสำเร็จ และไม่สะท้อนการทำงานของภาคเอกชนแท้จริง

“เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเศรษฐกิจดี ตัว NIM จะสูงขึ้น แต่เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี รายได้แบงก์หด ตัว NIM แคบลง ซึ่ง NIM จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการลดลงของเอ็นพีแอล”

3.การเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น หลังจากที่ธปท.สำรวจพบว่ามีสัดส่วนถึง 10%ของประชากรและภาคธุรกิจทั้งหมดที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินที่มีอยู่ และด้านนี้เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศทดแทนการพึ่งพาส่งออกที่หดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอมานาน โดยเน้นให้ระบบสถาบันการเงินไทยมีบริการสถาบันการเงินระดับรากหญ้า(ไมโครไฟแนนซ์) อิสลามไฟแนนซ์ การปริวรรตเงินตรา และรับฝากหลักทรัพย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในแง่นโยบายธปท.จะสนับสนุนให้มีการควบรวมกิจการภายใต้เงื่อนไขธุรกิจที่ดีและสร้างสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย โดยส่วนหนึ่งนักลงทุนต่างชาติมองว่าภาษี คือ อุปสรรคสำคัญในการควบรวมกิจการ แต่เรื่องนี้ขณะนี้คลังกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่

และ 4.การพัฒนาการบริหารความเสี่ยงธนาคารพาณิชย์ไทยดีกว่าในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้สถาบันการเงินไทยเสียเปรียบด้านนี้ด้วย โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมีให้ครบและสมบูรณ์มากขึ้น อาทิ การพัฒนาข้อมูลเครดิต ปรับปรุงกฎหมาย พัฒนาบุคลากร และพัฒนาตลาด โดยเฉพาะการประกันความเสี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น