xs
xsm
sm
md
lg

เงินกู้ดอกต่ำ5พันล.ขึ้นสนิม ท่องเที่ยวจี้ชุมพลแก้ไขด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.โรงแรมไทยสุดทนกระทรวงการท่องเที่ยวเมินปัญหาโครงการเงินกู้อืด เตรียมร่อนจดหมายถึง “ชุมพล” เสนอจัดเวทีสัมมนา เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออก  ชี้ปัญหาต้นเรื่องอยู่ที่ เอสเอ็มอีแบงก์ ไม่ผ่อนกฎเกณฑ์ ตีโจทย์ไม่แตกว่าเป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการจากภาวะวิกฤต ระบุถ้าขืนช้า สิ้นปีมีลุ้นปลดพนักงาน

นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการร่างจดหมายเพื่อเสนอต่อนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนา เพื่อระดมความคิดร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหาทางออกให้กับโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้จริงตามที่คาดหวังไว้

ทั้งนี้การสัมมนาดังกล่าวต้องการให้กระทรวงการท่องเที่ยวเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งถกปัญหาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน  ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงการคลัง สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ(สทน.) สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) สมาคมภัตตาคารไทย เป็น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) ซึ่งเป็นผุ้ปล่อยเงินกู้ในโครงการนี้   ซึ่งประเด็นสำคัญของการจัดสัมมนา เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้

เพราะภาคเอกชนเห็นว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการมานานกว่า 2-3 เดือนแล้ว แต่จนขณะนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับเงินกู้น้อยมาก โดยสมาชิกของสมาคมโรงแรมไทย ได้รับไปเพียง  9 ราย รวมวงเงิน 40.5ล้านบาท จากกลุ่มผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์เงินกู้ทั้งหมด 168 ราย จากจำนวนผู้ ยื่นขอเงินกู้ทั้งหมด 288 ราย

“การนำทุกฝ่ายมาพูดคุยพร้อมๆกัน จะทำให้มองเห็นปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดจากจุดใดจะได้ช่วยกันคิดแก้ไข เพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนมองว่าปัญหาสำคัญของโครงการนี้ คือ เอสเอ็มอีแบงก์ ไม่ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งที่จุดประสงค์ของโครงการต้องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ประกอบการที่ขอกู้เงินส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่หากธนาคารที่ปล่อยกู้ยึดหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจทั่วไป ก็คงไม่มีใครผ่านมาตรฐานแน่นอน”

นายประกิจ กล่าวอีกว่า  ตอนนี้ปัญหาสำคัญที่สุด คือ ขั้นตอนการพิจารณาของธนาคารเอสเอ็มอี  ซึ่งพบว่าขั้นตอนการปล่อยกู้ไม่มีความชัดเจน การสื่อสารระหว่างแบงก์ กับสมาคมและภาคเอกชนก็ไม่ตรงกัน ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถรับเงินกู้มาเยียวยาธุรกิจได้ทันกับความต้องการ ซึ่งจากการสอบถามภาคเอกชนด้วยกันทุกฝ่ายบอกตรงกันว่ายังไม่ได้รับเงินกู้ แต่ทางเอสเอ็มอีกแบงก์กลับแจ้งว่าได้อนุมัติวงเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการจำนวนมากแล้ว  สะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน แต่ก็ยังไม่เห็นกระทรวงการท่องเที่ยวจะเรียกฝ่ายใดเข้าประชุมหารือเพื่อจะได้รีบแก้ไข

“ขณะนี้โครงการเงินกู้ฯไม่มีความคืบหน้า กระทรวงท่องเที่ยวฯยังไม่ได้เรียกประชุมต่อ ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้นทางต่างฝ่ายต่างโยนเรื่องไปมา ทางเอสเอ็มอีแบงกได้อ้างว่าปล่อยกู้จำนวนมาก แต่เมื่อเช็คยอดจริงกลับมีไม่ถึง 10 ราย โดยสร้างความสงสัยให้กับผู้ประกอบการอย่างมาก เพราะโครงการนี้เป็นมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.)แต่กลับล่าช้า”นายประกิจ กล่าว

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง และวิกฤตเศรษบกิจโลกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยังมีปัญหาเรื่องโรคระบาดเข้ามาซ้ำ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีแต่จะลดน้อยลง รวมเวลามามากกว่า 6 เดือนแล้ว  ทั้งที่รัฐบาลก็ออกโครงการมาช่วยเหลือ แต่ในทางปฎิบัติไม่สามารถทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่แท้จริงได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในขณะนี้ต้องประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก บางรายแทบจะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนแล้ว หากยืดเยื้อไปมากกว่านี้ก็จะกระทบต่อการจ้างงานแน่นอน

อย่างไรก็ตามตอนนี้หลายโรงแรมเริ่มทยอยปรับลดค่าใช้จ่ายกันมากยิ่งขึ้น จากปกติก็ประหยัดกันอยู่แล้ว  เช่น ลดวันทำงาน  การรณรงค์ประหยัดพลังงานทั้งไฟฟ้าและปะปา เพราะต้องการประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปได้ถึงช่วงไฮซีซั่น เผื่อที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาสร้างรายได้ต่อลมหายใจได้ต่อไป แต่ยอมรับว่าทุกรายมีความกังวลในสถานการณ์ไฮซีซั่นปีนี้ เพราะจนถึงวันนี้ ยังมียอดจองห้องพักล่วงหน้าเข้ามาไม่มากนักประมาณ 10%   เท่านั้น ซึ่งต่างจากทุกปีที่ผ่านมา เพราะอีกราว 2 เดือนก็จะเริ่มเข้าสู่ไฮซีซั่นแล้ว  หากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการปล่อยเงินกู้ล่าช้าในโครงการนี้ ยิ่งเท่ากับเร่งให้ผู้ประกอบการล้มตายเร็วขึ้น อาจถึงขั้นปลดพนักงาน และ ขายกิจการก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น