xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ก.ค.ติดลบทำสถิติรอบ 18 ปี กสิกรฯ ชี้เป็นจุดต่ำสุดแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเงินเฟ้อเดือน ก.ค.ติดลบ 4.4% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปี ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว คาดเริ่มฟื้นตัว Q4 พร้อมคาดเงินเฟ้อทั้งปี -0.9% ถึง -0.4%



บริษัท ศูนย์วิจัยกสิรกรไทย เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.4% น่าจะเป็นจุดที่ต่ำสุดแล้ว เพระถือเป็นอัตราลบที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 18 ปี และคาดว่า เงินเฟ้อจะมีแนวโน้มติดลบในอัตราที่ชะลอลงตั้งแต่สิงหาคม 2552 เป็นต้นไป แต่การที่ราคาสินค้ายังคงมีระดับต่ำนี้จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในแดนลบต่อไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ปี 2552 และเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้อาจต้องล่าช้าออกไปเป็นช่วงไตรมาส 4 ปี 2552

ส่วนสาเหตุที่คาดว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบน้อยลง เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนหน้า ซึ่งมีฐานเปรียบเทียบที่สูงกดดันอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ให้ลงมาเป็นตัวเลขติดลบ แต่ผลดังกล่าวจะเริ่มคลายแรงกดดันลง เนื่องจากในปี 2551 หลังจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคม 2551 แล้ว สัญญาณปัญหาภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศเริ่มหดตัวจึงได้ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังคาดการณ์อีกว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์นับจากนี้ไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลให้อุปสงค์ที่มีต่อการใช้น้ำมันรวมทั้งสินค้าวัตถุดิบต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม และยางพาราเพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาสินค้าผู้บริโภคโดยเฉลี่ยแล้วค่อยๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แม้สภาพเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแออาจกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นไปได้รวดเร็วก็ตาม โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 3 ปี 2552 โดยเฉลี่ยจะติดลบในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 2.1-2.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังปรับลดประมาณการแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 28552 มาอยู่ที่ติดลบ 0.9 ถึงติดลบ 0.4% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 0.5 ถึงเพิ่มขึ้น 0.5% เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อน โครงการ 5 มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย นโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงถดถอย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2552 คาดว่า จะอยู่ในระดับ 0-0.5% จากเดิมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4-0.9%

ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชนออกไป ถึงเดือนธันวาคม 2552 ทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงติดลบต่อเนื่องต่อไปตลอดทั้งไตรมาสที่ 3 ปี 2552 แต่จะมีอัตราลบที่ชะลอลง และกว่าที่เงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกอาจต้องรอคอยไปจนถึงเดือนตุลาคม 2552

สำหรับทิศทางเงินเฟ้อ คงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบสูงและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหลุดออกไปจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.แต่ทางการมองว่าเงินเฟ้อที่ติดลบนี้ส่วนสำคัญเป็นผลจากมาตรการรัฐในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และไม่ใช่สัญญาณที่สะท้อนภาวะเงินฝืด

นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะค่อยๆ กลับมาสูงขึ้น ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกนั้นจึงมีค่อนข้างน้อย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนี้น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ ธปท.ยังไม่พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปีนี้ แต่แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปี 2553 อาจเพิ่มความซับซ้อนให้แก่การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ในการที่จะรักษาเป้าหมายหลายด้านไปพร้อมกัน ทั้งด้านเสถียรภาพราคา การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้กระทบต่อภาคการส่งออก
กำลังโหลดความคิดเห็น