โพลสวนดุสิต เผยผลสำรวจพลังงานทางเลือก ชี้ ปชช.ยังไม่มั่นใจแก๊สโซฮอล์ E85 จะใช้ดีเหมือนเบนซินหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าราคาในอนาคตจะแพงขึ้นหรือเปล่า จี้ ภาครัฐต้องประกาศมาตรการส่งเสริมให้ชัดเจน ขณะที่โรงงานผลิตรถยนต์ และโรงงานเอทานอล ยังไม่กล้าขยายการลงทุน เพราะกังวลต้นทุนการผลิต และอุปสงค์ของตลาดที่ผันผวนจากราคาน้ำมัน
นายสุขุม เฉลยทรัพย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในฐานะประธานการประชุมระดมความคิดเห็นและทัศนคติที่มีต่อผู้ใช้พลังงานทางเลือกแก๊สโซฮอล์ E85 เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งภาครัฐและเอกชนรวมไปทั้งผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตเอทานอลได้มาหารือกันถึงมุมมองของนโยบายรัฐบาลในน้ำมัน E85 โดยผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นพร้อมมองว่า การผลักดัน E85 เป็นพลังงานทางเลือกในขณะนี้ของรัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนของมาตรการ ทำให้การดำเนินการทางธุรกิจต่างๆ ทั้งการผลิตรถยนต์ และการเปิดโรงงานผลิตเอทานอล ยังคงรอความชัดเจนอยู่
นายสุขุม กล่าวว่า การผลักดันพลังงานทดแทนของรัฐ ควรจะมีการเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตเอทานอลได้ไม่ต่ำกว่า 1.25 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อความต้องการใช้อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรที่จะมีมาตรการที่ชัดเจน ทั้งในส่วนการจำหน่ายและภาษีที่จูงใจประชาชน เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมัน E85 กันมากขึ้น ซึ่งหลังจากการประชุมในครั้งนี้จะนำไปสู่การหารือที่มีวงกว้างขวางมากขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,553 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2552 ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 เกี่ยวกับทัศนคติต่อแก๊สโซฮอล์อี 85 พบว่าสิ่งที่ประชาชนรับรู้และเข้าใจมากที่สุด คือ ราคา อี85 ถูกกว่าเบนซิน 95 และแก๊สโซฮอล์ทั่วไป
โดยผลการสำรวจพบว่า ประชาชนมองภาพของแก๊สโซฮอล์ E85 เป็นน้ำมันที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพ และเป็นทางเลือกหนึ่งในการพึ่งพาเชื้อเพลิงในประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่มั่นใจว่าแก๊สโซฮอล์ E85 จะใช้ดีเหมือนเบนซินและไม่แน่ใจว่าราคาในอนาคตจะขยับสูงขึ้นหรือไม่
นอกจากนี้ ประชาชนยังเสนอแนะให้ภาครัฐส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ E20 ให้ชัดเจน ก่อนสนับสนุนแก๊สโซฮอล์ E85 ให้เร่งเผยแพร่ความรู้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน และหากผลิตแก๊สโซฮอล์ E85 ก็ควรจะผลิตเครื่องยนต์และรถยนต์ที่พร้อมใช้งานควบคู่กันไป
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานเอทานอล ผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ใช้ โดยผู้ผลิตเอทานอล เช่น กลุ่มวังขนาย มีความเป็นห่วงว่าต้นทุนเอทานอลอาจขยับสูงขึ้น และส่งผลต่อแก๊สโซฮอล์ E85 เพราะคาดว่า ราคาอ้อยปีนี้มีโอกาสขยับไปถึง 1,200 บาทต่อตัน จากปีที่แล้วอยู่ที่ 900 บาทต่อตัน
ส่วนตัวแทนเชฟโรเลต ระบุว่า เตรียมผลิตรถยนต์ใช้แก๊สโซฮอล์ E85 ออกมาจำหน่ายหลายรุ่นในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่ก็มีความเป็นห่วง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์ โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันแพงเช่นปีที่แล้ว จะหันไปหารถยนต์ประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะเชฟโรเลตเอ็นจีวียอดขายนับพันคัน แต่หลังจากราคาน้ำมันลดลงยอดขายเหลือระดับร้อยคันเท่านั้น จึงทำให้เชฟโรเลตชะลอการผลิต แต่เมื่อราคาน้ำมันขยับขึ้นอีกความต้องการรถเอ็นจีวีสูงขึ้น จนขณะนี้มียอดสั่งจองมากและทางบริษัทไม่สามารถผลิตได้ ทันกับความต้องการ
ขณะที่กลุ่มปิโตรกรีน ผู้ผลิตเอทานอลต้องการเห็นความชัดเจนของนโยบายที่ส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ E85 ทั้งรถยนต์และสถานีบริการ ที่ขณะนี้มีเพียง 4 แห่งเท่านั้น และยังระบุว่าเทคโนโลยีการใช้แก๊สโซฮอล์ E85 ไม่จำเป็นต้องผลิตรถยนต์ใหม่ทั้งหมด แต่ประเทศไทยนำเข้าคอนเวอร์ชั่นคิด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ดัดแปลงทำให้รถยนต์เก่าสามารถใช้แก๊สโซฮอล์ E85 ได้ทันที ซึ่งระบบนี้หากมีการส่งเสริมจะทำให้ยอดใช้แก๊สโซฮอล์ E85 ขยายตัวอย่างรวดเร็ว