จากการติดตามข่าวสัญญาสัมปทานช่อง 3 มาอย่างต่อเนื่อง ของ ASTVผู้จัดการรายวัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ อสมท
ASTVผู้จัดการรายวัน ขอนำเสนอในอีกมุมหนึ่งของผลการศึกษาและผลสรุป ในการสอบเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานช่อง 3 ที่ทำกันมาในอดีต ซึ่งถือเป็นสัญญาที่เอกชน คือ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือบีอีซี ได้เปรียบเจ้าของสัมปทาน คือบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขสัญญากันใหม่ จะส่งผลให้ อสมท ต้องตกเป็นเบี้ยล่าง บีอีซี ต่อไปอีก 10 ปี จนถึงปี 2563 ตามการต่อสัญญาสัมปทาน ทั้งๆที่ ที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี อสมท ก็ถูก บีอีซีสูบเลือดมาตลอด
สิ่งเดียวที่ต้องเกิดขึ้น คือ การปรับตัวเลขให้บีอีซีต้องจ่ายค่าสัมปทานใหม่ไม่ให้เหมาะสมไม่น้อยกว่าเดิม พร้อมกับการปรับเงื่อนไขสัญญาใหม่ เพื่อไม่ให้ อสมท ต้องตกเป็นเบี้ยล่างอีก
ที่สำคัญ อย่าให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยเดิมเหมือนกับการแก้ไขสัญญาถึง 3 ครั้งที่ผ่านมา
การศึกษาสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ อสมท กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือบีอีซี
สืบเนื่องมาจากอดีต อสมท (เดิมคือ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ต่อมาเปลี่ยนเป็นองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และได้เปลี่ยนมาเป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ) ตามลำดับ ได้ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการกับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือบีอีซี ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเกี่ยวข้องแทน) โดยเนื้อหาของสัญญาเป็นการให้สัมปทานประเภท BTO หรือ Build-Transfer-Operate โดยกำหนดให้บีอีซีทำการจัดสร้างสถานีส่งสัญญาณโทรทัศน์สีทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและดำเนินการบริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในขณะที่ อสมท ได้รับรายได้ในรูปของค่าตอบแทนในการร่วมดำเนินกิจการนั้น
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2550 นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นหลายชุดเพื่อช่วยในการดำเนินงานของ คณะกรรมการพิจารณาด้านสัญญาและกฎหมาย ซึ่งมีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธาน และจากนั้นก็มีคณะทำงานอีกหลายชุดเข้ามาทำงาน
โดยสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีระหว่าง อสมท กับ บีอีซี ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ มีด้วยกัน 4 ฉบับ คือ สัญญาฉบับแรกทำขึ้นในปี 2521 ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง ในปี 2525 และปี 2530 และปี 2535 ตามลำดับ ซึ่งสัญญาณส่งโทรทัศน์สีฉบับแรกมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2523 ถึงปี 2533 แต่การแก้ไขเพิ่มเติมที่ตามมาทำให้อายุของสัญญาขยายมาจนถึงปัจจุบัน และมีผูกพันไปถึงปี 2563
อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทั้ง 3 ครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่า การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 มีผลทำให้เงื่อนไขของสัญญาแตกต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ข้อสังเกตด้านกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 สามารถระบุได้เป็น 9 ประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 สิทธิประโยชน์ลดลง
การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 มีผลทำให้สิทธิประโยชน์ที่ อสมท ได้รับ มีจำนวนลดน้อยลง ทั้งที่มี บีอีซี (บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิในการขยายเครือข่ายการให้บริการในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีก 9 แห่ง ทั้งนี้เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาได้ยกเลิกการคำนวณค่าตอบแทนร้อยละ 6.5 จากรายได้ (การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาข้อนี้ บีอีซีอ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2532 ในขณะที่พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อ.ส.ม.ท. ในเวลานั้น ) และกำหนดให้ บีอีซีจ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท ในลักษณะตายตัวเป็นรายปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,205 ล้านบาท (กับค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายจตมที่ระบุไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 2 ) ซึ่งเมื่อคำนึงถึงมูลค่าของเงินตามเวลา (Time Value of Money) ที่อัตราคิดลดร้อยละ 8 แล้ว มูลค่าปัจจุบันของค่าตอบแทนดังกล่าวจะมีจำนวนเพียง 458 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 23 ล้านบาท
ประเด็นที่ 2 – ไม่ปรับค่าตอบแทนตามภาวะเงินเฟ้อในช่วง 20 ปีแรก
การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ไม่กำหนดให้ อสมท สามารถปรับค่าตอบแทนให้สูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อในช่วง 20 ปีแรก (2533-2553) ทั้งที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนจากจำนวนร้อยละของรายได้ไปเป็นค่าตอบแทนแบบตายตัว ซึ่งทำให้ค่าตอบแทนไม่สามารถปรับขึ้นตามสภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น ในช่วง 20 ปีแรกของสัญญา อสมท จึงสูญเสียประโยชน์จากการที่ค่าตอบแทนสามารถปรับขึ้นได้
ประเด็นที่ 3 – คงไว้ซึ่งความรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
ตามเงื่อนไขเดิม อสมท ไม่ต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เสาอากาศและเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับบีอีซี เนื่องจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นความรับผิดชอบของบีอีซี แต่การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 ได้กำหนดให้ อสมท และ บีอีซี ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายฝ่ายละกึ่งหนึ่งสำหรับเสาอากาศและเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 นี้นอกจากจะทำให้ อสมท มีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนน้อยลงแล้ว ยังทำให้ อสมท ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย
ประเด็นที่ 4 – การต่ออายุสัญญาเป็นไปโดยอัติโนมัติ
การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาครั้งที่ 3 กำหนดว่า เมื่อสัญญาหมดอายุลงในปี 2553 และบีอีซี ไม่ได้ทำผิดสัญญา บีอีซี จะได้รับการขยายอายุสัญญาต่อไปโดยอัติโนมัติอีก 10 ปี ทั้งที่เงื่อนไขเดิมกำหนดเพียงว่า บีอีซี มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาเป็นรายแรกหากเป็นไปตามเงื่อนไข 5 ข้อ (ประกอบด้วย 1. อสมท ยังมีนโยบายที่จะให้เอกชนร่วมดำเนินการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่อไป, 2.การดำเนินการของบีอีซีตามสัญญาที่ผ่านมาเป็นไปโดยเรียบร้อย, 3.อสมท จะพิจารณาให้สิทธิแก่บีอีซีเป็นรายแรก โดยบีอีซีจะต้องแจ้งความประสงค์พร้อมด้วยข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรมายัง อสมท ก่อนครบกำหนดสัญญาไม่น้อยกว่า 2 ปี, 4.ค่าตอบแทนทั้งสิ้นสำหรับการขยายระยะเวลาต้องไม่น้อยกว่า 2,002 ล้านบาท และ 5. คู่สัญญาได้ทำความตกลงเรื่องการปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และเงื่อนไขอื่นๆ ที่จำเป็น )
การแก้ไขสัญญาข้อนี้ทำให้ผลประโยชน์ที่ อสมท จะได้รับเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก เพราะเงื่อนไขในสัญญานอกจากจะกำหนดให้ อสมท ต้องต่อสัญญาให้บีอีซีโดยอัติโนมัติแล้ว ยังกำหนดให้ อสมท ได้รับค่าตอบแทนแบบตายตัวตลอดระยะเวลา 10 ปี จำนวน 2,002 ล้านบาท (เท่ากับค่าตอบแทนขั้นต่ำตามการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 2 ) ซึ่งเมื่อคำนึงถึงมูลค่าของเงินตามเวลา ที่อัตราคิดละร้อยละ 8 แล้ว มูลค่าปัจจุบันของค่าตอบแทนดังกล่าวจะมีจำนวนเพียง 297 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ ปีละ 30 ล้านบาท
(อ่านต่อ ตอน 2 วันพรุ่งนี้)
ข่าวเกี่ยวเนื่องย้อนหลัง
- เปิดผลสอบสัญญาทาสช่อง 3 “บีอีซีเวิลด์” ขี่คอ “อสมท”
- บอร์ดฯ ตีกรอบถกช่อง 3 ลุยสอบสัญญา-เพิ่มค่าต๋ง
- จี้ปลดแอกสัญญาช่อง 3 บอร์ด อสมท ลั่นเพิ่มค่าต๋ง
- ไอ้โม่งบีบบอร์ด“อสมท" เลิกรื้อสัญญาช่อง 3
- ฮุบ “ช่อง 3” สิบปี จ่ายแค่หลักพันล้าน “อสมท” ตั้ง กก.ศึกษาสัญญา
- ช่อง 3 เล่นแง่เลี่ยง พ.ร.บ. ''อสมท''ตั้ง กก.ทำตามกฎ
- แฉกลเกมช่อง 3 สูบรายได้ อสมท เสียค่าโง่กว่าหมื่นล้าน-ส่อผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน