xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับใหม่ เรือที่พายไม่เคยถึงฝั่ง…

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดการประชุมสามัญประจำปี ณ โรงแรมเรดิสัน พระราม9 ภายในงานมีทั้งศิลปิน และนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงหลายท่านมาร่วมงาน แต่สิ่งสำคัญของงานเห็นทีจะหนีไม่พ้น การเสวนา “พระราชบัญญัติลิสิทธิ์ พ.ศ.....” ว่าด้วยการบริหารจัดการค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ ซึ่งมีผุ้ทรงคุณวุฒิอย่าง คุณปัจฉิมา ธนสันติ รองอธิบดีกรมสิทธิทางปัญญา ประธานคณะกรรมการพัฒนากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา อาจารย์เจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ ประธานคณะทำงานยกร่าง “พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ......” อาจารย์วิรัช อยู่ถาวร นักแต่งเพลงและผู้บริหารบริษัทลิขสิทธิ์ดนตรี และครูสมพจน์ สิงห์สุวรรณ นักแต่งเพลง ร่วมเสวนา แสดงความคิดเห็น
เนื้อหาในการเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาพยายามหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นกับบรรดาศิลปิน และผู้ประพันธ์เพลงที่ได้รับการกดขี่ หรือความไม่เป็นธรรมจากค่ายเพลงที่เคยร่วมงาน รวมถึงชี้แนะทางออก ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากพ.ร.บ.ฉบับใหม่ในอนาคต หรือแนวทางที่แก้ไขได้ เช่นการตรวจสอบสัญญาต่างๆก่อนที่จรดลายเซ็นของตนลงไป ขณะเดียวกัน ก็พูดถึงรูปแบบ จุดดีและจุดแข็งในร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์..... ที่มาจากสภาความทนาย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง
แต่พอเริ่มมีการสอบถามความคิดเห็นของบรรดาผู้ร่วมงาน กลับพบว่ายังมีอยู่เพียงส่วนน้อย ที่จะแสดงทัศนคติของตนออกมาผ่านช่องทางนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางเสียงที่แสดงถึงสิทธิที่ตนปรารถนา และอุปสรรคที่ได้พบเจอมากับตนเองในด้านการลิดรอนสิทธิทางผลงานของตน ซึ่งโดยรวมแล้วหนีไม่พ้น “ความจำยอม”ที่ต้องเซ็นสัญญาฉบับดังกล่าวกับค่ายเพลง เพียงเพราะปากท้องที่ต้องหาเลี้ยงชีพ
หรือจะพูดกันอย่างตรงๆ คนในวงการนี้ยังโดนกดขี่ด้านสิทธิที่พึงจะได้รับอยู่ในระดับสูง เพราะการผูกขาดของตลาดที่มีเอกชนเพียงไม่กี่ราย ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถเรียกร้อง หรือร้องขอเพิ่มเติมอะไรได้มากไปกว่าที่ตนเองได้รับในปัจจุบัน ซึ่งหากไม่จำยอมคล้อยตาม ความลำบากต่อการเลี้ยงชีพ ต่อปากท้องของตนเองและครอบครัวก็จะมีแววมาให้เห็นได้แต่ร่ำไร เปรียบเสมือน “การบีบบังคับ โดยสภาพแวดล้อมของสังคม”
รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวแสดงความเห็นหนึ่งที่น่าฟังในช่วงแรกของการสัมมนาว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพลงทั้งหมดอยู่ได้ โดยไม่กระทบกัน ทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์เท่ากัน เพราะเข้าใจว่า คนแต่งเพลงนั้นบากกว่าจะแต่งเพลงได้ แต่สิทธิ์ทุกอย่างอยู่มือของท่านเอง ดังนั้นก่อนจะเขียนลงไป ขอให้คิดและอ่านสักนิด เพราะเป็นสิทธิ์ของท่านที่จะสามารถส่งต่อไปถึงลูกหลาน ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ท่านแสวงหาได้
“ ค่าบริหารจัดการ เราต้องมาจูนให้เจอกัน ทางค่ายอ้างมีค่าใช้จ่ายตรงนี้ น่าจะคุยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นร่างของสภาทนายความ หรือ ร่างของกรมทรัพย์สิน แต่ต้องยอมรับว่าการร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ยากที่สุด”
อาจารย์เจษฎา ตัวแทนจากสภาทนายความ ให้ความเห็นโดยสรุปว่า เหตุที่ทางสภาฯเข้ามาจัดทำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นนั้น เรื่องทุกอย่างเริ่มจาก ได้มีการร้องเรียนไปถึงสภาฯ และอยากให้สภาทนายความมาช่วยดูแลในการร่างกฎหมาย ซึ่งเมื่อคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย นำมาพิจารณา ก็มองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาว จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานยกร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ขึ้น โดยเชิญบรรดา ครูเพลง ผู้ประพันธ์ ผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ มาเป็นคณะกรรมการและที่ปรึกษาในการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา
“ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นการตกผลึกทางความคิด โดยในร่างอยากให้มีการจัดตั้งขึ้นในรูปแบบนิติบุคคลเฉพาะ ไม่ใช่บริษัทที่ค้ากำไร เป็นนิติบุคคลเพื่อบริหารลิขสิทธิ์ ซึ่งใครก็สามารถจัดตั้งได้ เพียงมีเจ้าของลิขสิทธิ์มากกว่า 3 รายขึ้นไปให้ความยินยอมในการบริหารจัดการลิขสิทธิ์แทนตนเอง”
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ที่สภาทนายความร่างขึ้น จะถูกส่งไปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้รู้ว่ามีร่างกฎหมายนี้อยู่ และมีแนวคิดที่ดีอย่างไร อีกทั้งไม่หวงห้ามหากกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะนำไปใช้ แต่ถ้าไม่ได้รับการยอมรับ ก็จะอาศัยรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ประชาชน 10,000 รายชื่อ เสนอร่างกฏหมายเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญัตินำไปพิจารณาอีกครั้ง
“ข้อเด่นของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือทำให้มีการรวมตัวกันในด้านงานลิขสิทธิ์ รวมถึงมีประสิทธิภาพในจัดเก็บมากขึ้น มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น และมีการจ้างคนที่เป็นตัวแทนซึ่งมีความเชี่ยวชาญหรือมีความสามารถมากขึ้น”
ด้าน อาจารย์วิรัช กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ของสภาทนายความนี้ ยังไม่ได้ศึกษามาก เพิ่งผ่านสายตาไม่นาน แต่ที่ผ่านมาร่างอื่นๆก่อนหน้านี้ก็มีเคยมีคนค้านค้าน แต่ส่วนตัวมองว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้หลายข้อมีประโยชน์ มีความเป็นธรรมมากขึ้น จะสามารถจัดค่าลิขสิทธิ์ได้สะดวก แต่ยังไม่แน่เพราะอาจมีหลายร่าง ที่เสนอขึ้นไป จึงยังไม่รู้ว่ากฎหมายอันไหนจะได้รับการพิจารณา
“ความเห็นของผมมีองค์กรน้อยที่สุดย่อมสะดวกสุด อีกทั้งอยากให้เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เป็นธรรมกับนักแต่งเพลง เช่นเก็บ 100 บาท 20 เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ ที่เหลือ 80 ให้นักแต่งเพลง จะทำให้นักแต่งเพลงจะได้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ปัจจุบันที่ทราบไม่เป็นไปตามนั้น”
สุทธิพงษ์ วัฒนจัง Executive Director – Content โซนี่ มิวสิค เอนเตอร์เทนเมนต์ หรือที่รู้จักมักคุ้นใน “ชมพู ฟรุตตี้” ให้ความเห็นที่น่าคิดว่า เราต้องเอาจริงกัน หาข้อมูลและเรียกประชุมนักแต่งเพลง เพื่อให้ได้ปัญหาที่ต้องการแก้ที่แท้จริง และเอาข้อมูลนี้เข้าไปคุยในการร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ออกมา เพื่อให้ได้สัญญาที่เป็นมาตรฐาน ว่าวันนี้คนแต่งเพลง เมื่อแต่งแล้ว จะต้องได้รับผลประโยชน์เท่าไร ได้ผ่านช่องทางไหนบ้างกี่เปอร์เซ็นต์ และที่ได้รับฟังในวันนี้ส่วนเห็นด้วยในการรวมตัวกัน แต่มองว่าเรื่องดังกล่าวยังขาดหัวหน้า หรือผู้นำ ซึ่งจะเป็นผู้เดินเรื่องที่แท้จริง
“ปัจจุบันบางบริษัทก็ให้ค่าส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ที่เหมาะสมและดูดี แต่ก็ใช่ว่านักแต่งเพลงจะแฮปปี้กับตรงนั้น เพียงแต่ไม่มีทางเลือก หรือไม่สามารถเลือกได้มากกว่า ดังนั้นหากมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาและให้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียม หรือใกล้เคียงกับที่เก่า แต่มีลิขสิทธิ์เป็นของผู้ประพันธ์เอง อันนี้เชื่อว่าจะได้รับความสนใจมากกว่า”
ทั้งนี้เมื่อสรุปใจความสำคัญแห่งแรงปรารถนาของทุกฝ่าย จะพบว่า งานนี้หาเรือธงนำขบวนไม่ได้ มีแต่ความหวังและความฝันปลิวลอยล่องไปทั่วห้องประชุม ดังนั้นหากทุกอย่างจะบรรลุไปได้ด้วยดี รัฐบาลควรเข้มาเป็นผู้สนับสนุนเต็มตัว โดยเป็นตัวกลาง และวางนโยบายให้แน่ชัด มีการจัดสรรงบประมาณลงมาบางส่วน รวมถึงมีการจัดบุคลากรเข้าดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มตัว เพื่อให้เรื่องดังกล่าวมีความคืบหน้าและชัดเจนมากกว่านี้ จะหวังเพียงแค่ให้ฝ่ายประชาชนจัดการเพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้อะไรไปมากกว่าการเสวนา หรือพูดคุยกันไปเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปลงตัว ส่วนนักแต่งเพลงก็ควรมีการรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวให้เรื่องนี้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะหากไม่ลงมือทำในวันนี้ เชื่อว่ากว่าพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับใหม่จะออกมา จะต้องใช้เวลาอีกหลายๆปี
กำลังโหลดความคิดเห็น