ม.หอการค้า คาดส่งออกทั้งปีติดลบ 17-22% ต่ำสุดรอบ 18 ปี แนะรัฐแก้ปัญหาภาษีซ้ำซ้อน หวังต่อลมหายใจ พร้อมคาดการณ์ แนวโน้มค่าเงินบาทครึ่งปีหลังแข็งโป๊กแตะ 33.90 บาท/ดอลลาร์ โดยเฉลี่ยทั้งปีที่ 34 บาท/ดอลลาร์
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง 2552 โดยมองว่าการส่งออกครึ่งปีหลังจะมีมูลค่ากว่า 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.1 ซึ่งชะลอตัวจากครึ่งปีแรกที่หดตัว ร้อยละ 21.3 ทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ของไทยจะมีมูลค่า 146,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 17.7-22.7 ซึ่งถือเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 18 ปี นับจากปี 2535
โดยไตรมาสที่ 3 การส่งออกของไทยมีโอกาสติดลบร้อยละ 22.3 ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 72 ไตรมาส แต่จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่4 แม้ยังไม่ถึงขั้นบวก แต่ติดลบน้อยลงเหลือร้อยละ 3.5
ส่วนการนำเข้าปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 132,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 25.7 และทิศทางการนำเข้าในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่า จะหดตัวร้อยละ 20.8 ซึ่งชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกที่ติดลบร้อยละ 30.8 ทำให้ปีนี้ไทยเกินดุลการค้า กว่า 13,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่คาดดุลการค้าในปีที่แล้ว 811 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับแรงกระตุ้นไม่ให้การส่งออกติดลบมาก คือ การเร่งหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน และกลุ่มประเทศต่างๆ ขณะเดียวกันภาครัฐจะต้องลดปัญหา และอุปสรรคการเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน เอกชชนจะต้องลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาเรื่องคลังสินค้าการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ยังกล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังว่า มีโอกาสแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากครึ่งปีแรกไปอยู่ที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากสถานการณ์การส่งออกมีแนวโน้มติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับคาดว่าประเทศผู้ส่งออกจะใช้นโยบายค่าเงินค่าเงินอ่อน
ทั้งนี้ หากพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 เป็นต้นมาพบว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจนกระทั่งต้นไตรมาส 2 ในเดือนเมษายน 2552 ค่าเงินบาทจึงปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น
โดยปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับ 34.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2552 หรือแข็งค่าขึ้น 0.9% ส่วนค่าเงินบาทเฉลี่ยตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ