ธปท.โต้แนวคิดแยกค่าเงิน 2 ตลาด ย้ำวิธีดูแลค่าเงินบาท ต้องไม่ขัดกับพื้นฐาน ศก.โดยรวม เพราะอาจไปกระทบการนำเข้า จะไปช่วยเฉพาะผู้ส่งออกคงทำไม่ได้ พร้อมยืนยัน ธปท.ใช้สมการดูแลค่าเงินบาทที่เหมาะสมในระยะยาวว่า ควรจะเป็นเท่าใด
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงข้อเสนอของหลายฝ่ายที่ต้องการให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง รวมถึงข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ให้แยกดูแลค่าเงินบาท 2 ตลาด เพื่อสนับสนุนด้านการส่งออกของไทย โดยยืนยันว่า ธปท.มีนโยบายดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และต้องไม่ขัดต่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมยืนยันว่า ธปท.มีสมการดูแลค่าเงินบาทที่เหมาะสมในระยะยาวว่า ควรจะเป็นเท่าใด
นางอมรา กล่าวเสริมว่า ธปท.ได้ดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ไม่เช่นนั้นทุนสำรองระหว่างประเทศจะไม่เร่งขึ้นมา แต่การดูแลต้องสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งในเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่า แต่ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ยังอยู่ที่ 77.32% ซึ่งอ่อนค่าลงเล็งน้อยจากเดือนมีนาคม 2552 และค่าเงินบาทค่อนข้างเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ
การดูแลค่าเงินบาทเพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกอย่างเดียวคงทำไม่ได้ เพราะนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นนโยบายมหภาคต้องดูให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน หากดูแลให้บาทอ่อนเพื่อผู้ส่งออก ก็จะทำให้ผู้นำเข้าสินค้าแพงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทส่วนหนึ่งมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ขณะนี้พบว่ามีการเกินดุลน้อยลง และทั้งปีคาดว่าจะขาดดุล โดยมองว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นก็จะทำให้มีการเร่งนำเข้าสินค้าในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552