ASTVผู้จัดการรายวัน – บอร์ด อสมท ประชุมเรื่องสัญญาช่อง 3 วันนี้ เผยความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน จากนี้ไปต้องรับบทหนักในการเจรจาย้ำต้องยึดถือผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก ด้าน “ประวิทย์” บอสใหญ่ช่อง 3 โผล่ย้ำรอ ‘อสมท” เรียกเจรจา อ้างทำตามขั้นตอนแล้ว
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหาร บมจ. อสมท เปิดเผยว่า ในวันนี้ ( 25 มิ.ย.) จะมีการประชุมของบอร์ด อสมทชุดใหญ่ ซึ่งจะมีหลายวาระ และหนึ่งในนั้นก็คือ วาระของการพิจารณาเรื่องสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.อสมท กับ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับสัมปทานช่อง 3 ด้วย ที่ทำเรื่องขอต่อสัญญาบริหารช่อง 3 ออกไปอีก 10 ปี ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2563
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้คงจะยังไม่มีข้อสรุปอะไรออกมาที่ชัดเจน เนื่องจากการพิจารณายังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น และมีรายละเอียดอีกมาก ขณะเดียวกัน บอร์ด อสมท เองก็ได้มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ตามาตรา 13 ไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อสามารถหาผู้ที่มาเป็นคณะกรรมการฯได้ครบ 12 คน ก็คงจะเริ่มประชุมได้ แต่ทั้งนี้บอร์ด อสมท เองก็จะมีการติดตามเป็นระยะๆ และให้ทางคณะกรรมการฯ ดังกล่าวรายงานเสนอมาตลอด เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ตามาตรา 13 กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้จะมีการรายงานถึงความคืบหน้าให้กับบอร์ด อสมท ได้รับทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าของการจัดตั้งคณะกรรมการฯตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งขณะนี้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่ อสมท ได้ทำหนังสือเชิญไป ได้ตอบรับและส่งรายชื่อกลับมาแล้ว คงเหลือเพียงอีกหน่วยงานเดียวเท่านั้น คาดว่าจะได้ภายในสัปดาห์นี้ และเริ่มประชุมเป็นทางการในต้นเดือนกรกฎาคมนี้
“จริงๆ แล้วในสัญญาเดิมที่ อสมท ทำไว้กับ บีอีซีฯ นั้น ดูๆ แล้ว แก้ไขจนกระทั่ง อสมท ค่อนข้างเสียเปรียบอย่างมาก ผลตอบแทนที่ได้รับก็ต่ำมาก ซึ่งสิ่งที่เราจะแก้ไขก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะตัวสัญญาผูกมัดไว้ แต่เราก็ต้องยึดถือผลประโยชน์ของชาติ และของ อสมท เป็นหลัก โดยเฉพาะค่าตอบแทนสัญญาสัมปทานที่บีอีซีเวิลด์จะต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่จ่ายเพียงแค่ 2,002 ล้านบาท”แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ ในสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ที่ทำขึ้นระหว่าง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันคือ บมจ.อสมท ) กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันคือ บีอีซีเวิลด์) ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ในข้อ 5. ระบุว่า “ให้ยกเลิกข้อความตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 ข้อ 7. และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ข้อ 7. เมื่อ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ดำเนินการออกอากาศส่วนกลางและส่วนภูมิภาคครบกำหนดเวลาในข้อ 5, 6 โดย บางกอกฯ ไม่ผิดสัญญาแล้ว ทาง อสมท ตกลงให้ บางกอกฯ ร่วมดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่อไปอีกมีกำหนด 10 ปีตามเงื่อนไข และข้อกำหนดในสัญญานี้ โดยมีค่าตอบแทนรวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2,002,610,000.00 บาท
โดยแบ่งจ่ายให้เป็นรายปีตามหลักเกณฑ์ ซึ่งปรากฏรายละเอียดและเงื่อนไขตามเอกสารผนวกหมายเลข 4 แนบท้ายสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 และคู่สัญญาได้ลงลายมือชื่อไว้ และถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้ด้วย นอกจากนั้นจะต้องปรับปรุงเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การออกอากาศได้กระทำกันต่อเนื่องและใช้การได้ดีเสมอ ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดย บางกอกฯ จะต้องเสนอโครงการปรับปรุงให้ อสมท เห็นชอบเสียก่อน
บางกอกฯ ยินยอมให้ อสมท สงวนสิทธิ์ที่จะปรับปรุงค่าตอบแทนที่กำหนดไว้เป็นรายปีดังกล่าวในวรรคแรกเสียใหม่ได้เฉพาะในกรณีอัตราเพิ่มของดัชนีค่าครองชีพ (เงินเฟ้อ) ที่ประกาศโดยทางราชการ ปีใดในช่วงการขยายอายุสัญญาสูงเกินกว่าร้อยละ 5 ขึ้นไป ให้นำอัตรานั้นมาคำนวณแทนในปีนั้นใหม่จากฐานของค่าตอบแทนในปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ปีใดดัชนีค่าครองชีพ (เงินเฟ้อ) สูงเกินกว่าร้อยละ 10 ให้คิดอัตราสูงสุดเป็นร้อยละ 10 ส่วนในปีถัดไปให้ใช้ค่าตอบแทนที่คำนวณได้ใหม่เป็นฐานแล้วคิดตามหลักเกณฑ์ในอัตราเพิ่มร้อยละ 5 ต่อปี”
** “ประวิทย์”อ้างรอเจรจา
ขณะที่นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่ได้รับการติดต่อจากทาง อสมท หรือมีหนังสือตอบรับเกี่ยวกับการต่อสัญญาแต่อย่างใด แม้ว่าบริษัทฯจะได้ยื่นหนังสือเรื่องของการขอต่อสัญญาสัมปทานการบริหารช่อง 3 ให้กับ อสมท ตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมาก็ตาม
“บีอีซีเวิลด์ ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของสัญญาที่ทำกันไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อช่วงปี 2532 ที่กำหนดอัตราค่าตอบแทนหรือค่าสัมปทานไว้ที่ 2,002,610,000.00 บาท ต่อการต่อสัญญาแต่ละครั้ง ครั้งละ 10 ปี”
นายประวิทย์ กล่าวว่า หากบอร์ด อสมท ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสัญญาเดิม ก็คงต้องมีการเจรจากันทั้งสองฝ่าย ซึ่งเราเองก็พร้อมที่จะเข้าไปเจรจาด้วย แต่ช่วงที่ผ่านมา อสมท ก็ยังไม่เคยที่จะเรียกบีอีซีเวิลด์ เข้าไปคุยด้วยเลย หรือชี้แจงอะไรมายังบีอีซีฯ เลย
ส่วนประเด็นที่มีการระบุว่า อสมท รับไม่ได้กับผลประโยชน์ตอบแทนสัมปทานที่ บีอีซีฯ จ่ายให้เพียงแค่ 2,002 ล้านบาท กับอายุสัญญาสัมปทานที่ต่อออกไปอีก 10 ปี นั้นค่อนข้างต่ำมากและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันนั้น นายประวิทย์ กล่าวเพียงว่า ทางบีอีซีฯ ก็พร้อมเข้าไปพูดคุยและเจรจา หากมีการเรียกเข้าไปหารือ ในตอนนี้ก็ยังจะไม่มีท่าทีอะไร “ตัวผมตอนนี้ยังไม่มีความคิดอะไรว่าจะเป็นยังไง ก็ดูทาง อสมท รอให้เขาทำหนังสือส่งมาถึงก่อน”
**ปรับรูปแบบรายการครึ่งปีหลัง
นายสุรินทร์ กฤติยาพงศ์พันธุ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2552 นี้ ช่อง 3 มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการบางส่วนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งอาจจะมีผู้ผลิตรายการหรือผู้จัดรายการบางรายที่เคยผลิตงานป้อนให้กับช่อง 3 จะกลับมาร่วมงานกันอีก อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ไม่มากถึงขั้นที่จะเรียกว่าเป็นการปรับผังรายการแต่อย่างใด เพราะว่าการปรับผังรายการนั้นจะต้องเป็นการปรับเปลี่ยนมากกว่า 20 รายการขึ้นไป
ส่วนรายการเรียลิตี้ "สุภาพบุรุษบอยแบนด์" ซึ่งใกล้ครบกำหนดหมดเวลาออกอากาศแล้วนั้น ทางบริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจากับทางผู้ผลิตรายการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปการเจรจาและรูปแบบรายการได้ในเร็วๆ นี้
**โบรกเกอร์ยันไม่กระทบฐานะการเงิน
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินถึง กรณีที่บอร์ด อสมท หรือ MCOT ตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนเข้าเจรจาขอปรับขึ้นค่าสัมปทาน BEC ช่วงต่อสัญญา 10 ปีหลัง (2553-2563) แม้ว่าในสัญญาเดิมได้มีการกำหนดค่าสัมปทานไว้ชัดเจนคือ 157.32 ล้านบาทในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% โดยผลตอบแทนรวมที่ต้องจ่ายให้ MCOT จนถึงมีนาคม 2563 เท่ากับ 2,040.53 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่า BEC ต้องโอนโครงข่ายที่ลงทุนไว้ทั้งหมดให้กับ MCOT ภายหลังหมดอายุสัมปทาน เหตุผลหลักเกิดจาก MCOT เห็นว่าค่าสัมปทานที่เรียกเก็บกับ BEC ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับคู่สัญญารายอื่นและคู่แข่งของ BEC โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายใน 3 เดือน
ทั้งนี้ สัญญาสัมปทานที่ BEC ซึ่งเป็นผู้บริหารช่อง 3 ได้ทำไว้ MCOT ในตอนแรกนั้นมีผลผูกพันตั้งแต่ 2533–2553 แต่สัญญาดังกล่าวได้ระบุเงื่อนไขการต่อสัญญากับ BEC ระยะที่สองอีก 10 ปี (2553-2563) พร้อมเงื่อนไข BEC ต้องจ่ายค่าตอบแทนในครั้งนี้โดยรวมราว 2 พันล้านบาท พร้อมกับต้องลงทุนขยายสถานีเครือข่ายอีก 9 แห่งไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับ BEC ต้องโอนโครงข่ายที่ลงทุนไว้ทั้งหมดให้กับ MCOT หลังหมดอายุสัญญาสัมปทาน มี.ค. 2563 ขณะที่ True Vision ไม่ต้องลงทุนโครงข่ายแต่อย่างใด นอกจากนี้ สัญญาดังกล่าวมีความถูกต้องและรัดกุมมาก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ยากมาก ที่ MCOT จะสามารถปรับขึ้นค่าสัมปทานของ BEC ให้เท่ากับที่ได้รับจาก True Vision คือราวปีละ 650 ล้านบาท แต่ในกรณีเลวร้าย คือ BEC อาจตัดความรำคาญ โดยยินดีให้ค่าสัมปทานเท่ากับที่ช่อง 7 สีจ่ายให้กับกองทัพบกคือ 230 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ BEC จ่ายค่าสัมปทานเพิ่มขึ้นจากเดิมราวปีละ 70 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคาที่เหมาะสมลดลงจากเดิมเพียง 0.30 บาทเท่านั้น
“แม้การขอปรับขึ้นค่าสัมปทานของ MCOT จะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาเชิงลบต่อราคาหุ้นของ BEC ในระยะสั้น แต่เราเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ BEC มากนัก บวกกับคาดการณ์ผลประกอบการของ BEC ไตรมาส 2/52 จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากที่ได้ปรับกลยุทธ์ทั้งขึ้นค่าโฆษณาบางรายการ และปรับผังรายการตั้งแต่ช่วงต้น มี.ค.ที่ผ่านมา บวกกับฐานะการเงินที่แข็งแกร่งคือมีฐานะเงินสดสุทธิสูงเกิน 5 พันล้านบาท และมีความพร้อมจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอในอัตรามากกว่า 90% ของกำไรสุทธิ ดังนั้นจึงแนะนำให้ซื้อ โดยให้ราคาที่เหมาะสมไว้ที่ 26.3% จากราคาปิดล่าสุดที่ 19.70 บาท”บล.เอเซีย พลัส ระบุ