xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ ศก.วูบ-การเมืองแบ่งขั้ว ฟาดคนเมืองหมดหวังชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วาย แอนด์ อาร์ ชี้ ผลวิจัยคนกรุงแห่รัดเข็มขัดรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ ความถี่-จำนวนซื้อต่อชิ้นวูบ ระบุ เศรษฐกิจบีบรัด-การเมืองแบ่งขั้ว กระทบจิตวิทยาคนเมืองหมดหวังกับชีวิตเพิ่ม ตัวเลขพุ่งจาก 6.9% เป็น 14.2% ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ-ความงามบูม ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินไม่อั้น เพื่อให้ตนเองพร้อมรับสถานการณ์ที่ผกผัน แนะนักการตลาดอัดงบตอกย้ำแบรนด์โปรโมชันสร้างมูลค่าเพิ่ม ทางรอดฝ่าวิกฤต

วานนี้ (16 มิ.ย.) บริษัท ยังก์ แอนด์ รูบิแคม จำกัด (วาย แอนด์ อาร์) ได้ทำการศึกษาและวิจัยความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจและพฤติกรรมการใช้จ่าย ภายใต้ชื่อวายแอนด์อาร์รีเฟกเตอร์ 2009 เวฟ 1 Y&Reflector?2009 Wave1 โดยเราได้ทำการศึกษากับผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 600 กลุ่มตัวอย่าง ในระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-เดือนเมษายน 2552

นายกิตติพงษ์ วีระเตชะ รองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์การสื่อสารแบรนด์ บริษัท ยังก์ แอนด์ รูบิแคม จำกัด (วาย แอนด์ อาร์) กล่าวว่า ผู้บริโภคในกรุงเทพส่วนใหญ่กว่า 79% มีการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าในช่วงเศรษฐกิจถดถอย โดย ยังคงจะซื้อและใช้สินค้ายี่ห้อเดิม แต่ความถี่การซื้อน้อยลงโดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างชัดเจน ขณะที่กลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป จะซื้อสินค้ายี่ห้อเดิมในปริมาณที่น้อยลง

แม้ว่าผู้บริโภคจะมีปริมาณการซื้อที่น้อยลงใช้สินค้ายี่ห้อเดิม แต่อาจไม่ได้หมายถึงผู้บริโภคมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์เสมอไป แต่เพื่อความมั่นใจและสบายใจจากสินค้ายี่ห้อที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และกลุ่มวัยเรียนจนถึงวัยเริ่มต้นทำงาน (18-29 ปี) และ กลุ่มที่มีรายได้สูงเป็นกลุ่มที่ยอมที่จะจ่ายแพงกว่ากับสินค้าที่ตรงกับความต้องการ ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

โดยเฉพาะกลุ่มวัยเรียนยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ และยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ยึดติดกับยี่ห้อเดิม หรือไม่ได้เลือกซื้อสินค้าที่ราคาถูกเพียงอย่างเดียว ถ้าสินค้านั้นตอบโจทย์รที่เกี่ยวข้องและโดนใจผู้บริโภคได้ ยินดีที่จะจ่ายแพงกว่ากับสินค้ายี่ห้อนั้นๆ โดยอาจไม่ได้เน้นที่ราคาถูกเสมอไป

ทั้งนี้ เกือบทุกกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้า ยกเว้นกลุ่มอายุตั้งแต่ 30-50 ปี ที่มีสัดส่วนมากกว่าช่วงอื่นๆ โดยเป็นกลุ่มที่ทำงานหารายได้ด้วยตัวเองได้ จนถึงกลุ่มที่ต้องทำงานเก็บเงินสร้างฐานะให้กับตนเองและครอบครัว มากกว่ากลุ่มวัยเรียนที่ยังไม่ได้มีภาระความรับผิดชอบมากนัก

แต่ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามยังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มดี เนื่องจากต้องการทำให้ตนเองพร้อมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากการศึกษาพฤติกรรมพบว่า กลุ่มผู้บริโภคยินดีซื้อยี่ห้อแพงกว่า ถ้าสินค้ามีความเกี่ยวข้องและโดนใจ โดยกลุ่มคนดูแลสุขภาพ 69% และกลุ่มที่ใส่ใจเรื่องความสวยความงาม 72%

***ชี้คนกรุงเทพฯหมดหวังท้อแท้เพิ่ม***
นายกิตติพงษ์ กล่าวต่อถึงการเปลี่ยนแปลงคนกรุงเทพฯ ในเชิงจิตวิทยาว่า มีคน 3 กลุ่ม มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในสังคมไทยเมื่อเทียบกับปี 2552 กับปี 2550 ได้แก่ กลุ่ม Resigned หรือโลกใบเก่าของผู้ที่อยู่ไปวันๆ จาก 6.9% เพิ่มเป็น 14.2% เพราะด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัดและการเมืองที่แบ่งขั้ว อาจทำให้คนกลุ่มดังกล่าวรู้สึกหมดหวังและยอมแพ้ในชีวิต

ส่วนกลุ่ม Reformer ผู้ที่เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มจาก 13.9% เป็น 17.8% สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยเริ่มมีการศึกษาดีขึ้นและตระหนักรู้ในการซื้อสินค้ามากขึ้น และกลุ่ม Aspirer หรือคนอินเทรนด์ในโลกแห่งการมีหน้ามีตา เพิ่มจาก 14.2% เป็น 17.5% ซึ่งถ้าพิจารณาถึงคนทั้ง 3 กลุ่ม พบว่ามีบางอย่างที่แชร์ร่วมกันอยู่ คือ การพยายามที่จะแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าให้กับชีวิต และต้องการการยอมรับจากสังคมมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 กลุ่มที่ลดลง ได้แก่ กลุ่ม Struggler หรือผู้ที่ไร้ทางออก ซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มรากหญ้า จาก 11.4% เป็น 7.8% และกลุ่ม Mainstreamer หรือผู้ที่มีครอบครัวอบอุ่น ต้องการความปลอดภัย จาก 29.1% เป็น 22.8% ตามด้วยกลุ่ม Explorer ผู้แสวงหาความเร้าใจใหม่ๆ หรือผู้ชื่นชอบนวัตกรรมใหม่ๆ จาก 9% เป็น 6.7% โดยสาเหตุที่ลดลงเนื่องจากยกระดับสู่กลุ่ม Reformer ผู้ที่เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และกลุ่ม Succeeder หรือผู้ที่ในกำมือมีชัยชนะ จาก 15.4% เป็น 13.2%

**แนะกลยุทธ์นักการตลาด
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า นักการตลาดที่ต้องการทำการตลาดกับผู้บริโภคในช่วงภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ซึ่งจะนำมาด้วยการคิดไอเดียใหม่ๆ ในการนำเสนอต่อกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนั้นการทำโปรโมชันต้องเป็นการสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ และความถี่ในการทำโปรโมชันมากเกินไป อาจจะส่งผลเสียต่อแบรนด์ได้ ต้องขยายฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการไม่ควรลดงบการตลาดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น