xs
xsm
sm
md
lg

"บัณฑูร" แนะ "มาร์ค" ลุยโครงสร้างพื้นฐาน 3 ด้าน ห่วงพรรคร่วมทำเจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัณฑูร ล่ำซำ
"ปั้น" ห่วงปัญหาพรรคร่วม-การต่อรองผลประโยชน์ ฉุดรั้งรัฐบาลการแก้ปัญหา ศก.ล่าช้า แนะรัฐบาลเร่งปรับโครงสร้าง 3 ด้าน การศึกษา-กฎหมาย-โทรคมนาคม เพื่อปูทางการพัฒนาแบบยั่งยืน

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวในงานสัมนนาเรื่อง "กระบวนการยุติธรรมกับวิกฤตเศรษฐกิจ" โดยระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานของประเทศควรได้รับการแก้ไข 3 ด้าน ได้แก่ ระบบการศึกษา ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และระบบโทรคมนาคม ซึ่งมีความล้าหลังและยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานทั้ง 3 ด้านมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะหากเกิดวิกฤตขึ้นอีก ไม่ใช่แค่ระบบเศรษฐกิจที่จะมีปัญหาเท่านั้น แต่จะทำให้ประเทศถอยหลังจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

นายบัณฑูร กล่าวว่า รัฐบาลในปัจจุบันไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะเป็นรัฐบาลผสม ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ โดยรัฐบาลใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและปัญหาส่วนบุคคลเป็นหลัก ทำให้ไม่มีการจัดสรรเวลาเพื่อมาแก้ปัญหาเหล่านี้

นายบัณฑูร กล่าวถึงในส่วนของรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่ยังมีความไม่ชัดเจนส่งผลให้ไม่เกิดความศักดิ์สิทธิ์ และทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยทุกครั้งที่มีผู้เสียผลประโยชน์จะหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อเสนอให้แก้ไขให้ถูกใจ ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นที่รัฐธรรมนูญมีความเข้มแข็ง ซึ่งวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นนประเทศเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมมือกันสร้างระบบพื้นฐานให้มีความแข็งแกร่ง

"ถ้ากติกาไม่ชัดเจนจะจัดการอะไรก็ลำบาก ทุกวันนี้มีคนจ้องจะเปลี่ยนกติกาอยู่ทุกวัน รัฐบาลก็ไม่มีสมาธิ มีแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาระยะยาวก็ไม่รู้จะแก้กันตอนไหน แล้วรัฐบาลก็เปลี่ยนกันอยู่เรื่อยๆ ทำให้โครงการต่างๆ ก็ไม่ได้แก้ไขสักที เรื่องโครงสร้างการศึกษาไม่มีใครพูดเลย มีแต่เรื่องเรียนฟรี"

นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า แผนกู้เงินเพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เมื่อมีการลงทุนภาครัฐแล้วจะจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนตามได้มากน้อยเพียงใด เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นมากกว่า

ส่วนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการค้าต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น