คลังเผย ศก.เดือน เม.ย.มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรม มีการหดตัวที่ลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงจากภาคการใช้จ่ายและการบริโภคที่อ่อนแอ และภาวะ ศก.โลก ที่ฟื้นตัวช้า พร้อมแนะภาครัฐเพิ่มบทบาทในการใช้จ่ายพยุงระบบ พร้อมประเมิน “จีดีพี” ไตรมาส 2 หดตัวลดลง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยในเดือนเมษายน 2552 มีสัญญาณปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุตสาหกรรมอาหารและเคมีภัณฑ์ที่สามารถส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จีน และอินเดีย แต่การผลิตในภาคการเกษตรและบริการหดตัวมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศยังคงอ่อนแอ สะท้อนได้จากเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนรวมทั้งการส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ดังนั้นภาครัฐยังจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้า และการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศ พบว่า ยังมีความแข็งแกร่งจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นค่อนข้างมาก ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศมีความเสี่ยงลดลงจากอัตราการว่างงานที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
นายสมชัย ยังระบุว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 1 ปี 2552 ที่ติดลบ 7.1% ถือเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว และคาดว่า จีดีพีไตรมาส 2 ปี 2552 จะเริ่มติดลบน้อยลง ส่วนไตรมาส 3 ปี 2552 จากที่มาตรกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มเห็นผลและการเมืองเข้าสู่ความมีเสถียรภาพ จะยิ่งทำให้จีดีพีติดลบน้อยลงอีก
ทั้งนี้ เป็นการประเมินจากภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม 2552 ที่มีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนเมษายน 2552 ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่สะท้อนการบริโภคภาคเอกชน จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นเป็น 35,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เริ่มทรงตัว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มขยายการลงทุนและขยายกำลังการผลิตสินค้า
หลังจากนั้น มองว่า ตัวเลขจีดีพีน่าจะเริ่มฟื้นตัวเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 หลังจากติดลบต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ซึ่งในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เงินงบประมาณปี 2553 เริ่มเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 อีกทั้งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ก็น่าจะมีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการคลังยังคงประมาณการณ์จีดีพีปี 2552 ไว้ว่าจะติดลบ 3.5% แต่จะทบทวนตัวเลขจีดีพีอีกครั้งตามกำหนดในเดือนมิถุนายน 2552 นี้