xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.มึน! มูดีส์จ้องหั่นเครดิต 11 แบงก์ไทย การันตีฐานะแข็งแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บิ๊กแบงก์ชาติมึน! มูดีส์ประกาศหั่นเครดิต 11 แบงก์พาณิชย์ของไทย การันตีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งสุดๆ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึง 14.5% ขณะที่ความสามารถในการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ชี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 40% ของจีดีพี

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส กำลังทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือธนาคารพาณิชย์ของไทย 11 แห่ง โดยระบุว่า ฐานะของธนาคารในประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมาก โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ในระดับสูงถึง 14.5% จึงมองไม่เห็นโอกาสที่จะเกิดปัญหาได้

นอกจากนั้น ความสามารถในการให้ความช่วยเหลือของทางการไทยก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่ระดับ 40% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) หากเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกันก็ถือว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยยังค่อนข้างต่ำ และคิดว่า ในช่วง 2-3 ปึจากนี้ไป ก็ยังไม่เห็นปัญหาที่จะทำให้ไทยมีหนี้เกิน 60% ของจีดีพี

ก่อนหน้านี้ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่งของไทย โดยมีแนวโน้ม ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือรายชื่อธนาคาร ทั้ง 11 แห่ง ดังนี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB

ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ จำกัด (มหาชน) หรือ UOBT ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIMT) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GHB)

ทั้งนี้ ผู้บริหารของมูดีส์ ระบุว่า การทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้สินและเงินฝากนั้น จะมีการพิจารณาที่บริบทของความสามารถของไทยในการให้การสนับสนุนระบบการธนาคารของประเทศ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการดูแลหนี้สินของรัฐบาล อันเนื่องมาจากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจและสินเชื่อทั่วโลก

“มูดีส์ เชื่อว่า รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนระบบการธนาคารของประเทศอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องดูแลเรื่องหนี้สินของตนเอง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารได้รับประโยชน์จากการยกระดับ อันเนื่องมาจากการให้การสนับสนุนอย่างเป็นระบบ”

อย่างไรก็ดี ขณะที่วิกฤตการเงินยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสามารถของประเทศและธนาคารกลางของประเทศ ในการให้การสนับสนุนธนาคารในประเทศดำเนินการสอดคล้องกับความสามารถในการดูแลหนี้สินของรัฐบาลนั้นถือเป็นเรื่องที่ถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น