xs
xsm
sm
md
lg

มูดี้ส์ขู่หั่นเครดิต11แบงก์ไทย อ้างวิกฤตศก.กดดันธปท.-คลังอุ้มไม่ไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - มูดี้ส์ประกาศเตรียมหั่นเครดิต 11 สถาบันการเงินของไทย เหตุวิกฤตการเงินส่งผลต่อความสามารถของทางการในการสนับสนุนธนาคารถูกกดดัน รองผู้ว่าฯ ธปท.ลั่นยังไม่เห็นโอกาสที่จะเกิดปัญหาได้ในระยะ 2-3 ปี อ้างความแข็งแกร่งจากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS สูงถึง 14.5% ส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ที่ 40% นายแบงก์เมินเหตุสภาพคล่องยังเพียงพอ

วานนี้ (27 พ.ค.) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่งของไทย โดยมีแนวโน้มปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) หรือ BAY ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ จำกัด (มหาชน) หรือ UOBT ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIMT) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GHB)
ผู้บริหารของมูดี้ส์ระบุว่า การทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้สินและเงินฝากนั้นจะมีการพิจารณาที่บริบทของความสามารถของไทย ในการให้การสนับสนุนระบบการธนาคารของประเทศให้สอดคล้องกับความสามารถในการดูแลหนี้สินของรัฐบาล เนื่องมาจากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจและสินเชื่อทั่วโลก
"มูดี้ส์ เชื่อว่า รัฐบาล มีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนระบบการธนาคารของประเทศอยู่แล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องดูแลเรื่องหนี้สินของตนเอง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว อาจทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ขณะที่วิกฤตการเงินยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสามารถของประเทศและธนาคารกลางของประเทศ ในการให้การสนับสนุนธนาคารในประเทศดำเนินการสอดคล้องกับความสามารถในการดูแลหนี้สินของรัฐบาลนั้นถือเป็นเรื่องที่ถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ"

ธปท.โต้หนี้สาธารณะยังต่ำ
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ฐานะของธนาคารในประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมาก โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ในระดับสูงถึง 14.5% จึงมองไม่เห็นโอกาสที่จะเกิดปัญหาได้ ขณะที่ความสามารถในการให้ความช่วยเหลือของทางการไทยก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
"สัดส่วนหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่ระดับ 40% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) หากเทียบกับประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกับก็ถือว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยยังค่อนข้างต่ำ และคิดว่าในช่วง 2-3 ปึจากนี้ไป ก็ยังไม่เห็นปัญหาที่จะทำให้ไทยมีหนี้ฯเกิน 60% ของจีดีพี" นางอัจนากล่าว

แบงก์เมินมูดี้ส์เหตสภาพคล่องสูง
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า หากมีการปรับลดความน่าเชื่อถือจริงจะกระทบกับการออกตราสารหนี้ของธนาคาร รวมทั้งการออกหุ้นกู้ และเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร ซึ่งต้องคำนึงถึงเรื่องของความน่าเชื่อถือ และอาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่มีความวิตกในปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เนื่องจากขณะนี้ธนาคารยังมีสภาพคล่องจำนวนมาก โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS ของธนาคารอยู่ในระดับสูงถึง 14.9% จึงไม่มีความจำเป็นในการระดมทุนที่จะก่อให้เกิดปัญหาได้
นายชาติชายกล่าวว่า แนวโน้มภาพรวมธนาคารไทยทั้งระบบในครึ่งปีหลังคงต้องจับตา โดยอัตราการเติบโตอาจลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อที่คาดว่าจะโตได้ไม่เกิน 4-6% การปล่อยสินเชื่อของ KBANK ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาค่อนข้างทรุดตัวลง 1-2 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/51 ขณะที่ไตรมาส 2/52 คาดว่าจะยังอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวลง รวมทั้งจากประเด็นปัญหาทางการเมืองช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อมีจำนวนลดลง อย่างไรก็ตามยังคงประมาณการปล่อยสินเชื่อทั้งปีจะขยายตัวอยู่ที่ 6%
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารทั้งระบบในไตรมาสแรกจะอยู่ที่ 5.5% ซึ่งโตจากไตรมาส4/51 ซึ่งอยู่ที่ 5.3% ขณะเดียวกันระบุว่า NPLของ KBANK ไตรมาส 1/52 อยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 0.2% โดยคาดว่าแนวโน้ม NPL ในไตรมาส 2/52 ยังคงทรงตัว หรืออาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงนี้ยังชะลอตัว แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีก็ตาม
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB กล่าวว่า ไม่มีความวิตกกับประเด็นดังกล่าวมากนัก เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการทบทวน ซึ่งผลสรุปอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดกาณ์ว่าจะปรับลดความน่าเชื่อถือดังกล่าวก็ได้
ทั้งนี้ หากมีการพิจารณาปรับลดความน่าเชื่อถือจริง อาจจะส่งผลกระทบต่อการออกตราสารหนี้ของธนาคาร เนื่องจากอาจส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของนักลงทุนลดลง ส่วนแนวโน้มภาพรวมธนาคารไทยในครึ่งปีหลังเชื่อว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น หากไม่มีประเด็นทางการเมืองส่งผลกระทบต่อสถานภาพเศรษฐกิจของประเทศอีก ทั้งนี้ ความน่าสนใจในการลงทุนในประเทศยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งธนาคารเองยังไม่จำเป็นที่จะต้องระดมทุนเพิ่ม เนื่องจากยังมีสภาพคล่องอีกจำนวนมาก
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การทบทวนของมูดี้ส์จะไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงินไทยมากนัก เนื่องจากเราไม่ได้มีการระดมทุนอะไรมากขณะนี้จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
นางเยาวลักษณ์ พูลทอง ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านสื่อสารองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การประกาศจะทบทวนอันดับเครดิตธนาคาร 11 แห่งในประเทศไทยภายใน 2-3 สัปดาห์ของ Moody's ครั้งนี้อยู่บนมุมมองที่ว่ารัฐบาลอาจจะเข้ามาช่วยเหลือสถาบันการเงินได้น้อยลง (ถ้าสถาบันการเงินมีความจำเป็นต้องการความช่วยเหลือ) โดยพิจารณาากระดับหนี้ของภาครัฐไม่ได้เป็นเพราะมูดี้ส์เห็นว่าธนาคารของไทยอ่อนแอลงแต่อย่างใด
ขณะนี้ อันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับลงทุน (Investment Grade) ถ้ามีการปรับลดอันดับเครดิตของบางแห่งลง 1 ขั้น ส่วนใหญ่ก็ยังคงมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับลงทุนอยู่ ซึ่งก็คงจะทราบผลการทบทวนของมูดี้ส์ภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
ทั้งนี้ อันดับเครดิตเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนดู และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่บอกได้ถึงความเข้มแข็งขององค์กร เช่น ระดับเงินกองทุน ซึ่งโดยรวมแล้วในวันนี้ ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนในระดับสูงบอกได้ว่าโดยรวมมีความมั่นคงทางการเงิน ในส่วนของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเรามีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ระดับ 15.5% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 8.5% เกือบเท่าตัว และในอัตราส่วน 15.5%ดังกล่าวเป็นส่วนของเงินกองทุนขั้นที่ 1 ถึง 13% ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่บอกว่า ธนาคารมีความมั่นคงทางการเงินในระดับสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น