xs
xsm
sm
md
lg

SMEชวดกู้เงินแบงก์เพียบแนะบสย.ค้ำฯสินเชื่อเต็ม100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว.เผยธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 1.4 ล้านรายยังเคว้งเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเหตุไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แนะบสย.เข้าค้ำประกัน 100% จากปกติที่จะค้ำประกันไม่เกิน 50% ของสินเชื่อ พร้อมติวเข้มขยายช่องทางการตลาด

นายภักดิ์ ทองส้ม รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีกว่า 1.44 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านสถาบันการเงินได้ เนื่องจากไม่มีหลักหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ รวมถึงแผนโครงการและงบการเงินไม่ชัดเจน ส่งผลให้หลายรายต้องใช้เงินสะสมในครัวเรือน หรือกู้เงินนอกระบบในอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอดในสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณาให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อแก่ธุรกิจรายเล็กเต็ม 100% จากเดิมที่ค้ำประกันไม่เกิน 50% ของวงเงินสินเชื่อที่ยื่นขอ

สำหรับสาขาที่ภาครัฐต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หนังและผลิตภัณฑ์หนัง ผลิตภัณฑ์พลาสติก แก้วและเซรามิก เฟอร์นิเจอร์ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์ยางเหล็ก โลหะ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และบริการเสริมสุขภาพ สปา เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจดังกล่าวต้องเผชิญกับคำสั่งซื้อที่ลดลงค่อนข้างมากหากเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัวคาดว่าออร์เดอร์จะกลับเข้ามาแต่จะต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง

"สสว. ได้แนะนำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินที่มีอยู่ รวมถึงขยายช่องทางการตลาด เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร พัฒนาความรู้ ความสามารถของแรงงาน และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนข้อเสนอให้ บสย.ค้ำประกัน 100% นั้น ควรให้ความสำคัญกับรายเล็กที่กู้จำนวนเงินไม่มากก่อน เพราะหากใช้เงินออมทั้งหมดมาหมุนธุรกิจ ยิ่งทำให้คนในครอบครัวยิ่งเดือดร้อนอีก"นายภักดิ์กล่าว

นายพานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า ได้จัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ 3 ส่วนคือ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชน 65 ล้านคน โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตรกรรมที่มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพียง 10 %เท่านั้น คาดว่าจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาได้ภายในเดือนก.ค.52
กำลังโหลดความคิดเห็น