“กอร์ปศักดิ์” แจงแผนกระตุ้น ศก.ชุด 2 วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี โดยใช้งบประมาณ และเงินกู้ในประเทศ 8 แสนล้านบาท แบ่งเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท สำหรับแผนเร่งด่วน และออกเป็น พ.ร.บ.อีก 4 แสนล้านบาท สำหรับระยะต่อไป เน้นโครงการขนาดเล็ก พร้อมตั้งทีมดูแลการใช้เงิน
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยระบุว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการลงทุนระยะที่ 2 วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)
“เป็นการลงทุนระยะเวลา 3 ปี ด้วยการใช้งบประมาณ และอีกส่วนเป็นเงินกู้ 8 แสนล้านบาท ซึ่งจะกู้เงินในประเทศทั้งหมด เพราะสภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอถึง 1.5 ล้านล้านบาท โดยออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 4 แสนล้านบาท และออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อให้สภาพิจารณาอนุมัติอีก 4 แสนล้านบาท”
ทั้งนี้ ยอมรับว่าแม้จะทำให้ภาระหนี้สาธารณะสูงขึ้นถึงร้อยละ 60 แต่จะใช้เวลาเพียง 2 ปี เท่านั้นในการดูแลให้ภาระหนี้ลดลง ขณะที่บางประเทศมีภาระหนี้สาธารณะสูงเกินร้อยละ 70 ของจีดีพี และแผนลงทุนดังกล่าว เพื่อใช้ในโครงการลงทุนขนาดเล็กในชุมชน เช่น ระบบชลประทานขนาดเล็กเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง การสร้างถนนลาดยางทั่วประเทศ เพื่อความสะดวกในการคมนาคม โดยยังไม่เน้นลงทุนขนาดใหญ่ 100-1,000 ล้านบาท เพราะหากเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้เวลานานจนกว่าโครงการจะเกิดเป็นรูปธรรม
ดังนั้น แนวคิดของรัฐบาลต้องการให้เป็นโครงการขนาดเล็กไม่ต้องเป็นโครงการใหญ่ใช้เวลาลงทุนเป็นเวลานาน เพราะในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ลงทุนใหม่เพิ่มเติมเลย เป็นการลงทุนจากโครงการเดิมสานต่อจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาให้สำเร็จเท่านั้น เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ และรถไฟฟ้าใต้ดิน
“หลังจากนี้ต้องการให้มีโครงการเกิดใหม่ เพื่อต้องการให้เกิดการจ้างงาน 1.6-2.0 ล้านคน ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า เพราะหากเงินเหล่านี้ลงทุนในทางที่เป็นประโยชน์ จะเพิ่มศักยภาพในทางการแข่งขันของประเทศ มีเส้นทางคมนาคมที่ดี มีระบบการศึกษาที่พัฒนา เพราะหากแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 2 เท่า จะมีแหล่งเพาะปลูกเพิ่มขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การลงทุนในระยะเวลา 3 ปี เป็นไปด้วยความโปร่งใส จะหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพราะได้มีแนวคิดเบื้องต้นในการตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามดูแลการลงทุนโครงการต่างๆ โดยมีบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย เพื่อให้การประมูล การจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการต่างๆ ดำเนินไปด้วยความธรรม เพื่อนำข้อมูลรายงานให้รัฐบาลทราบถึงความคืบหน้าของโครงการและแจ้งให้ประชาชนรับทราบและเกิดความมั่นใจ ให้คลายความกังวลว่าเงินที่รัฐบาลได้กู้ไปถูกนำไปลงทุนในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์หรือไม่