xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้เปิดเทอม ปชช.อ่วม 53% รายได้ลดลง สวนทางค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพล ม.กรุงเทพ เผยเปิดเทอมนี้ ผู้ปกครอง 53% แบกภาระอ่วม รายได้ลดลง สวนทางค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น งัดสารพัดวิธีรับมือ ทั้งหยิบยืม ทุบกระปุก รัดเข็มจัด หารายได้เสริม และพึ่งโรงรับจำนำ พร้อมระบุ สิ่งที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ คือ เรียนฟรีถึง ม.ปลาย ตั้งกองทุนกู้ยืม เพิ่มทุนการศึกษา คุมค่าใช้จ่ายในโรงเรียน และเลิกค่าแปะเจี๊ยะ

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ภาวะการเงินของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองที่มีบุตร เรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 1,073 คน เมื่อวันที่ 28-29 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา พบว่า ค่าใช้จ่ายในเรื่องการเรียนของบุตรในเทอมนี้ เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ปกครอง ประสบปัญหาเงินรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ผลการสำรวจได้ระบุว่า ผู้ปกครองที่เดือดร้อนมีสูงถึงร้อยละ 53.5 (จำนวนนี้ระบุว่าเพิ่งจะประสบปัญหาในเทอมนี้ 21.7% และเคยประสบปัญหามาก่อนหน้านี้ 31.8%) โดยสาเหตุหลักของปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม คือ ร้อยละ 32 บอกว่า รายได้ลดลง ร้อยละ 19.8 อุปกรณ์การเรียนมีราคาแพงขึ้น และร้อยละ 11.6 ค่าเทอมแพงขึ้น

สำหรับวิธีการที่ผู้ปกครองใช้ในการแก้ปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่าย คือ ส่วนใหญ่ 18.2% ขอยืมเงินจากญาติ เพื่อน คนรู้จัก 16.1% นำเงินที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้ กู้เงินนอกระบบ 12.3% ใช้เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียนของปีที่แล้ว 11.6%, หารายได้เสริมนอกจากอาชีพหลัก 11.5%, จำนำทรัพย์สิน 10.6% และมีความเห็นอื่นๆ เช่น นำของมีค่าออกมาขาย กู้เงินจากธนาคาร ย้ายบุตรมาเรียนโรงเรียนรัฐบาล หรือโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนถูกกว่า

ส่วนสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเรียนของบุตร คือ อยากให้ทุกคนเรียนฟรีจนจบมัธยมปลาย 49.3% จัดตั้งกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนมัธยม 15.9% เพิ่มทุนการศึกษาให้มากขึ้น 15.4% ช่วยเหลือเรื่องค่าอุปกรณ์การเรียน 15.2% และอื่นๆ เช่น ควบคุมค่าใช้จ่ายของโรงเรียนเอกชน ยกเลิกค่าแป๊ะเจี๊ยะ ให้เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี

ขณะที่ความคิดเห็นต่อความคุ้มค่าระหว่างความรู้และประโยชน์จากการเรียนที่บุตรได้รับกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป ส่วนใหญ่ 62.5% คิดว่า คุ้มค่า 8.9% คิดว่าไม่คุ้มค่า และไม่แน่ใจ 28.6%
กำลังโหลดความคิดเห็น