xs
xsm
sm
md
lg

ศศิธารารับหน้าเสื่อกวาดบ้านอีลิท ตั้ง คกก.จี้ตรวจบัญชีเพิ่มส่ง “ชุมพล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดอีลิท พลิกโผ ตั้ง “ศศิธารา” นั่งประธาน ประชุมนัดแรกประเดิมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ จี้ สอบข้อมูลทางบัญชีอีลิทการ์ดละเอียดยิบ พร้อมศึกษาปรับโครงสร้างระบบบัญชีใหม่ทั้งหมด หวังกวาดบ้านให้ตัวเลขรายรับรายจ่ายตั้งอยู่บนพื้นฐานที่แท้จริง กำหนดแล้วเสร็จ 9 เม.ย.ก่อนชงเรื่องถึงชุมพลอีกครั้ง เบื้องต้นพบตัวเลขเงินสดคงเหลือ 2 ปีลดฮวบ 200 ล้านบาท

รายงานข่าวจากการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ไทยแลนด์ พรีวิเลจคาร์ด จำกัด หรือ ทีพีซี ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท ซึ่งมี นายสรจักร เกษมสุวรรณ เป็นประธาน แจ้งว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่ตัวแทนบอร์ด ททท.เสนอชื่อให้ นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นประธานบอร์ดทีพีซี จากนั้นได้มีการแต่งตั้งอีก 2 ตำแหน่ง คือ 1.นายดุษฎี สินเจิมสิริ ผู้ตรวจสำนักนายก อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นรองประธานบอร์ด 2.นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เป็นที่ปรึกษาบอร์ด เพราะเป็นตัวแทนภาคเอกชนท่องเที่ยวในการเสนอข้อคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากวงการท่องเที่ยว ระบุว่า เดิม ททท.ได้เตรียมเสนอชื่อ นายดุษฎี สินเจิมสิริ ผู้ตรวจสำนักนายกฯ เป็นประธาน แต่เมื่อถึงเวลาประชุม ตัวแทนจากบอร์ด ททท. กลับเสนอชื่อ นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นประธาน โดยมีมติโหวตเป็นเอกฉันท์ สะท้อนให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่การทำงานของบอร์ดอีลิทที่นำโดย นาวสาวศศิธารา ในครั้งนี้ จะเป็นเสมือนการเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างการทำงานของทีพีซีอย่างละเอียดอีกครั้งตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท เพื่อรายงานตรงต่อนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ

**ตั้งคณะกรรมการกวาดขยะใต้พรม**

หลังการแต่งตั้งตำแหน่งประธานบอร์ดทีพีซี เป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ดำเนินการประชุมต่อ โดยนางสาวศศิธารา ประธานบอร์ดทีพีซี กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยมี นายสงขลา วิชัยขัทคะ รองเลขาธิการกฤษฎีกา เป็นประธาน และมีกรรมการอีก 2 ท่าน ประกอบด้วย นางเมธาวี ตันวัฒนพงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ททท., รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยราชธานี และ ผศ.โสภาพรรณ อมตะเดชะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ททท., อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตราชภัฏสวนดุสิต

ภารกิจของคณะกรรมการตรวจสอบ คือ จะเข้ามาตรวจสอบวิเคราะห์ระบบ และวิธีการทางบัญชีของบริษัท ทีพีซี อย่างละเอียด ว่า โครงสร้างในปัจจุบันนี้ถูกต้องหรือไม่ พร้อมกับ ศึกษาหาวิธีการทางบัญชีในรูปแบบใหม่ให้ตัวเลขทางบัญชีดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เช่น ปัจจุบัน ขายบัตร 1 ใบ จะเฉลี่ยรับรู้รายได้ทางบัญชี 10 ปี จะให้เปลี่ยนเป็น ขายบัตร 1 ใบ ให้เฉลี่ยรับรู้รายได้ทางบัญชีเป็น 30 ปี เพื่อให้ข้อมูลใกล้เคียงความจริงที่สุด เป็นต้น โดยจะนำกลับมารายงานบอร์ดในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ก่อนจัดทำเป็นข้อมูลเพิ่มเติม เสนอให้แก่นายชุมพล ศิลปะอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ใช้ประกอบการพิจารณา

**เงินสด 2 ปี ลดวูบเฉียด 200 ล้านบาท***

นอกจากนั้น ต้องตรวจสอบเงินสดคงเหลือของบริษัททั้งหมด รายรับรายจ่ายตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันอย่างละเอียด เช่น ล่าสุด ทราบว่า ก่อนจะมีคำสั่งจาก รมว.ชุมพล ให้หยุดทำธุรกิจทุกอย่างที่จะก่อภาระผู้พัน ทีพีซี ได้ เซ็นสัญญาจัดซื้อระบบคอมพิวเตอร์วงเงิน 76 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่าระบบจองบนเว็บไซต์ 48 ล้านบาท และโครงการเช่าระบบ CRM อีก 28 ล้านบาท โดยเร็วๆ นี้ ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า 10% หรือประมาณ 7 ล้านบาทเศษ ตรงนี้ ให้ไปดูในสัญญาว่าจะยกเลิกหรือชะลอไปก่อนได้หรือไม่

“ที่ผ่านมา ทีพีซี ส่งเพียงข้อมูลรายได้จากปี 2546-2549 ไม่ได้บอกรายจ่ายอย่างละเอียด ทำให้เราไม่ได้ข้อมูลเชิงลึก ดังนั้น ครั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบจะทำอย่างละเอียด เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อนายชุมพล ใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินว่าจะให้อีลิทเดินหน้าต่อไปหรือไม่อย่างไร ซึ่งแนวทางการทำงานของบอร์ดอีลิทในขณะนี้จะไม่คิดแนวทางใหม่ แต่จะเข้ามาดูสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทว่ามีเงินเท่าใด มีภาระต้องใช้เท่าใด เพื่อจะได้คำนวณว่าต่อปีต่อขายบัตรได้เท่าใด มีรายรับเท่าใด จึงเพียงพอกับรายจ่าย และ มีกำไรคงเหลือ”

อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 22 ก.พ.2552 ทีพีซี มีเงินสดคงเหลือ รวม 479.96 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี ธ.ค.2550 มีเงินสด 693.59 ล้านบาท, ธ.ค.2551 มีเงินสด 505.16 ล้านบาท สาเหตุเพราะปัญหาขององค์กรที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทไม่สามารถจำหน่ายบัตรได้ตามเป้าหมาย และในปี 2551 ยังมีค่าใช้จ่ายในโครงการจำใจจากอีก กว่า 20 ล้านบาท สำหรับรายจ่ายประจำในแต่ละปีจะเฉลี่ยกว่า 300 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายแก่บริการกอล์ฟ สปา และ รถลีมูซีน ให้แก่สมาชิกรวมปีละ 100 ล้านบาท อีกกว่า 200 ล้านบาท คือ ค่าจ้างพนักงาน และค่าบริหารจัดการองค์กร
กำลังโหลดความคิดเห็น