xs
xsm
sm
md
lg

ซอฟต์โลน SME ส่อขัด กม.จี้ “สศค.-สบน.” หาทางออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระส่ำซอฟต์โลน 5 หมื่นล้านบาท ผ่านเอสเอ็มอีแบงก์สะดุดหลังคลังลังเลไม่กล้ากู้เงินหวั่นผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ต้องให้สภาอนุมัติ จี้ สศค.-สบน.เร่งหาทางออกสร้างความชัดเจน ขณะที่ “พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์” แจงยังมีช่องกู้เงินหลังปรับแผนก่อหนี้ครั้งใหม่ ระบุ เงินกู้ในประเทศไม่เข้ามาตรา 190 โยน สศค.ไม่ตัดสินใจกรอบเงินกู้แบงก์รัฐทำแผนล่าช้า ขณะที่แบงก์คลอดแพกเกจสินเชื่อกู้วิกฤต ผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น ทั้งเพิ่มวงเงินโครงการ smePower พร้อมเดินเครื่องสินเชื่อชะลอเลิกจ้างแรงงาน

แหล่งข่าวจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติกรอบวงเงินกู้ระยาวดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวน 5 หมื่นล้านบาท ผ่านทางเอสเอ็มอีแบงก์ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติสินเชื่อจากเงินซอฟต์โลนตามกรอบที่ ครม.อนุมัติแต่อย่างใด ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกบางส่วนเริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจและมีบางส่วนได้ปิดกิจการไปแล้ว

โดยวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทนี้ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอีอย่างน้อย 1 หมื่นรายเกิดการจ้างงานขั้นต่ำ 1 แสนราย จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานพิจารณาในระดับนโยบายสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินกู้จำนวนนี้เร่งหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ทันตามความต้องการ

“ไม่แน่ใจว่า ความล่าช้าของโครงการนี้เป็นเพราะ สบน.ไม่กล้าตัดสินใจหาแหล่งเงินให้กับเอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ เพราะติดขัดข้อกฎหมายหรือไม่ ต้องมีการตีความว่าเงิน 5 หมื่นล้านนี้ จะถือเป็นหนี้สาธารณะหรือไม่ และการอนุมัติกรอบวงเงินกู้ก้อนนี้จะต้องเข้าที่ประชุมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่ ต้องดูกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ให้ละเอียดว่าเรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างไร ความสับสนในประเด็นนี้จึงทำให้การหาซอฟท์โลนจำนวน 5 หมื่นล้านบาทนี้ล่าช้าออกไป” แหล่งข่าวจากเอสเอ็มอีแบงก์กล่าว

สบน.ยัน กม.เปิดช่องกู้ได้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะประธานกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า วงเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านเอสเอ็มอีแบงก์นั้นในขณะนี้ผ่านขั้นตอนของสบน.เรียบร้อยแล้วโดยอยู่ระหว่างการสรุปแผนการก่อหนี้รวมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ สศค.เป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ความล่าช้าของซอฟท์โลนนี้จึงไม่ได้เกิดจากขั้นตอนของ สบน.แต่อย่างใด

วงเงินกู้ดังกล่าวเท่าที่พิจารณาตามข้อกฎหมายพบว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่อย่างใด เพราะเป็นการกู้เงินในประเทศและไม่ใช่การทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ นอกจากนี้การปรับแผนการก่อหนี้ของ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะที่มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2552 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีการปรับเพิ่มวงเงินรวม 117,691 ล้านบาท ทำให้มีช่องในการออกตราสารเพื่อกู้เงินในประเทศได้

“หลังปรับแผนก่อหนี้แล้วทำให้เรามีช่องในการกู้เงินเพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ซึ่งดูตามข้อกฎหมายแล้วไม่เข้ามาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญตามที่กังวลกัน ตอนนี้รอเพียงการตัดสินใจระดับนโยบายจากรัฐมนตรีเท่านั้นว่าจะทำอย่างไรในฐานะ สบน.ก็พร้อมจะดำเนินการและในฐานะเอสเอ็มอีแบงก์ก็พร้อมปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ทันที” นายพงษ์ภาณุกล่าวและว่า แผนทุกอย่างมีความพร้อมหากมีปัญหาเอสเอ็มอีแบงก์ก็ยังมีโครงการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไว้รองรับอยู่แล้ว

ระบุมีแผนรองรับผู้ประกอบการอื้อ

นายพงษ์ภาณุ กล่าวต่อว่า ความล่าช้าของซอฟต์โลน 5 หมื่นล้านบาท ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแต่อย่างใด ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์ยังมีโครงการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจท่องเที่ยว และบริการ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดจากลูกค้าที่ขอสินเชื่อจะอยู่ที่ประมาณ 5.5% คาดว่า เม็ดเงินปล่อยเข้าสู่ระบบได้ในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้

สำหรับหลักเกณฑ์การปล่อยกู้จะไม่ต่างจากแบบเดิมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยปล่อยกู้ซอฟต์โลน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่การกู้เงินของลูกค้าจากธนาคารพาณิชย์จะออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยแบงก์จะอาวัลตั๋วเพื่อขายลดให้เอสเอ็มอีแบงก์วงเงินกู้รายละไม่เกิน 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ความต้องการสินเชื่อในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีมากถึง 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าวงเงินที่จัดเตรียมไว้ ขณะเดียวกัน ซอฟต์โลนครั้งนี้ส่วนหนึ่งจะใช้รองรับการรีไฟแนนซ์ซอฟท์โลนเดิมของ ธปท.ด้วยเป็นวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงเตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อวางแนวทางดำเนินการให้เกิดความเหมาะสมต่อไป

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ธนาคารยังได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ออกโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างงาน วงเงินเบื้องต้น 6 พันล้านบาท โดยกองทุนประกันสังคมจะนำเงิน 6 พันล้านบาท ไป ฝากไว้กับ เอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อให้นำไปปล่อยกู้ให้กับสถานประกอบการ ภายใต้เงื่อนไข สถานประกอบการที่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ในโครงการดังกล่าว จะต้องไม่เลิกจ้างลูกจ้าง

คาดว่า จะสามารถช่วยเหลือสถานประกอบการได้ประมาณ 1 พันราย และช่วยเหลือลูกจ้างได้ประมาณ 2 หมื่นคน โดยผู้ประกอบการสามารถขอกู้ได้ในวงเงินตั้งแต่ 5 หมื่นบาท ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ประมาณ 5% ต่อปี ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ smePOWER ที่ให้บริการครบวงจร 4 ด้าน คือ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ บริการร่วมลงทุน บริการค้ำประกันสินเชื่อ และการให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี ร่วมกับ สวทช. ซึ่งโครงการนี้ตนมั่นใจว่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้เป็นอย่างดี โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อโครงการ smePOWER ในเบื้องต้นไว้ 10,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารมีความพร้อมที่จะดำเนินการ

นายวิชญะ วิถีธรรม โฆษกคณะกรรมการ ธพว.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) กล่าวว่า คณะกรรมการธนาคารมีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อ smePower เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง ฟื้นโครงการสินเชื่อ สำหรับครัวไทยสู่โลกใหม่อีกครั้ง เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ และอาหารไทยเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก นอกจากนั้น ธนาคารได้อนุมัติโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน สามารถปล่อยกู้ได้ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมนี้ เป็นต้นไป

การปรับพิจารณาหลักเกณฑ์สินเชื่อ โดยจัดเป็นแพกเกจกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารต้องการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น แล้วนำเงินทุนไปลงทุน หรือใช้หมุนเวียนในกิจการได้มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากเวลานี้ ธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ กำลังชะลอการปล่อยสินเชื่อ

สำหรับโครงการสินเชื่อ smePower ได้ปรับขยายวงเงินสินเชื่อจากเดิมวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย เป็นกู้สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยคิดขั้นต่ำสำหรับลูกค้าชั้นดี และยังขยายประเภทสินเชื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากเดิมเป็นเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลาเท่านั้น ปรับเพิ่มเป็นเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียน (P/N) สินเชื่อเพื่อเครดิตทางการค้า (Factoring) และสินเชื่อลิสซิ่งและเช่าซื้อโดยจุดเด่นของสินเชื่อโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไปของระบบธนาคาร

ธนาคารยังได้พิจารณาให้เปิดบริการโครงการสินเชื่อครัวไทยสู่โลกขึ้นมาใหม่ ซึ่งในการให้บริการเฟสที่ 2 นี้ จะเน้นผู้ประกอบการที่จะลงทุนเปิดร้านอาหารไทยหรือดำเนินธุรกิจในต่างประเทศสามารถยื่นกู้ได้ทั้งบุคคลหรือนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเฉพาะที่ตั้งในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนร้านอาหารไทยและธุรกิจอื่นๆ ในต่างประเทศมากขึ้นตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนธุรกิจในต่างประเทศ

ส่วนของโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน จะเริ่มปล่อยกู้ได้ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป เน้นกลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และขึ้นทะเบียนประกันสังคมและยินยอมตกลงชะลอการเลิกจ้างแรงงานกับสำนักงานประกันสังคม รวมถึง ผ่อนปรนเงื่อนไขในกรณี Refinance จากสถาบันการเงินอื่น สามารถยื่นขอสินเชื่อในโครงการดังกล่าวนี้กับธนาคารได้เช่นกัน โดยเป็นเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) ระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 2 ปี วงเงินกู้สูงสูดไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.0% ต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น