“เอสเอ็มอี แบงก์” ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ ออกแพ็กเกจสินเชื่อกู้วิกฤต หวังผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น ทั้งการปรับรูปแบบ smePower เปิดช่องกู้ง่ายขึ้น และออกสินเชื่อชะลอเลิกจ้างแรงงาน พร้อมฟื้นโครงการสินเชื่อครัวไทยสู่โลก ตามนโยบายของรัฐบาล
นายวิชญะ วิถีธรรม โฆษกคณะกรรมการ ธพว. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) เปิดเผยถึงว่า คณะกรรมการธนาคารได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อ smePower เพื่อให้ผู้ประกอบการกู้เงินได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง ฟื้นโครงการสินเชื่อครัวไทยสู่โลกใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ และอาหารไทยเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยธนาคารได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อใหม่ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs นำเงินทุนไปลงทุน หรือ ใช้หมุนเวียนในกิจการได้มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากเวลานี้ ธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆกำลังชะลอการปล่อยสินเชื่อ
นอกจากนั้น ธนาคารได้อนุมัติโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจัดเป็นสินเชื่อแพ็กเกจกู้วิกฤตเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สำหรับโครงการสินเชื่อ smePower ได้ปรับขยายวงเงินสินเชื่อจากเดิมวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย เป็นกู้สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยคิดขั้นต่ำสำหรับลูกค้าชั้นดี และยังขยายประเภทสินเชื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากเดิมเป็นเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลาเท่านั้น ปรับเพิ่มเป็นเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียน (P/N) สินเชื่อเพื่อเครดิตทางการค้า (Factoring) และสินเชื่อลิสซิ่งและเช่าซื้อ
ทั้งนี้ จุดเด่นของสินเชื่อโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไปของระบบธนาคาร
ในส่วนของโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน เน้นกลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และขึ้นทะเบียนประกันสังคมและยินยอมตกลงชะลอการเลิกจ้างแรงงานกับสำนักงานประกันสังคมและผ่อนปรนเงื่อนไขในกรณี Refinance จากสถาบันการเงินอื่น สามารถยื่นขอสินเชื่อในโครงการดังกล่าวนี้กับธนาคารได้เช่นกัน โดยเป็นเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) ระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 2 ปี วงเงินกู้สูงสูดไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.0% ต่อปี
โฆษกคณะกรรมการ ธพว. กล่าวอีกว่า ธนาคารยังได้พิจารณาให้เปิดบริการโครงการสินเชื่อครัวไทยสู่โลกขึ้นมาใหม่ ซึ่งในการให้บริการเฟสที่ 2 นี้ จะเน้นผู้ประกอบการที่จะลงทุนเปิดร้านอาหารไทยหรือดำเนินธุรกิจในต่างประเทศสามารถยื่นกู้ได้ทั้งบุคคลหรือนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเฉพาะที่ตั้งในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนร้านอาหารไทยและธุรกิจอื่นๆ ในต่างประเทศมากขึ้นตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนธุรกิจในต่างประเทศ